‘สธ.-WHO’ เดินหน้า สุขภาพดี ทั่วไทย ด้วยระบบดิจิทัลสุขภาพ

27 เม.ย. 2567 | 14:45 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2567 | 14:48 น.

กระทรวงสาธารณสุขจับมือ WHO มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ผ่านการพัฒนาและปรับปรุงระบบดิจิทัลสุขภาพ มั่นใจพร้อมบรรลุวิสัยทัศน์การดูแลสุขภาพของทุกคนอย่างเท่าเทียมของทุกคนบนแผ่นดินไทย

นับจากปี 2494 ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การอนามัยโลก (WHO) และให้ความร่วมมือในดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขระดับโลก และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น การสร้างระบบสาธารณสุขมูลฐาน

ความร่วมมือด้านการกำจัดโรคเรื้อน โรคโปลิโอ และ การยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก รวมถึงการรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบในการรับมือกับสถานการณ์โรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ ถือเป็นหนึ่งผลงานและความสำเร็จที่ไทยยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประธานการจัดกิจกรรมวันอนามัยโลก (World Health Day) ประจำปี 2567 และครบรอบ 76 ปี องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า แผนงานด้านสาธารณสุขตั้งแต่ ปี 2565-2569 ที่เน้นด้านโรคไม่ติดต่อ สุขภาพแรงงาน ข้ามชาติ ความปลอดภัยบนท้องถนน ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ด้วยการผสานแพลตฟอร์มสุขภาพดิจิทัลกับระบบข้อมูลสุขภาพ และการยกระดับความเป็นผู้นำในด้านสุขภาพโลกของประเทศไทย ภายในระยะเวลา 5 ปี

‘สธ.-WHO’ เดินหน้า สุขภาพดี ทั่วไทย ด้วยระบบดิจิทัลสุขภาพ

เพื่อยกระดับการสาธารณสุขไทยให้สามารถรับมือปัจจัยสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้เข้ามาบริหารประเทศ นโยบายสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขทำทันที ก็คือ การยกระดับนโยบายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ได้ดำเนินการไว้ตั้งแต่ปี 2544 มาสู่นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว

โดยนโยบายนี้มุ่งเน้นใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1.ขยายโอกาสการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพสำหรับกลุ่มเปราะบาง เน้นกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ชายแดน พื้นที่พิเศษ และกลุ่มเปราะบาง รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ มอร์แกน หรือบุคคลไร้สถานะ รวมถึงให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม

2.ขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านการพัฒนาระบบดิจิทัลสุขภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพและบริการต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย ในการเชื่อมโยงระบบบริการสุขภาพให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ สร้างสังคมที่มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน

‘สธ.-WHO’ เดินหน้า สุขภาพดี ทั่วไทย ด้วยระบบดิจิทัลสุขภาพ

ปัจจุบันรัฐบาลประกาศเดินหน้านโยบายยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิบัตรทอง 30 บาท จนถึงวันนี้เดินเข้าสู่เฟสที่ 3 แล้ว รวมระยะเวลาตั้งแต่การขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ให้บริการประชาชนแล้วรวม 12 จังหวัด แบ่งออกเป็น

ระยะที่ 1 เริ่มไปแล้วเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ดและนราธิวาส

ระยะที่ 2 เริ่มเมื่อเดือนมีนาคม โดยขยายเพิ่มเป็น 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ พังงา

ระยะที่ 3 ในเดือนพฤษภาคมนี้ จะขยายเพิ่มเป็น 20 จังหวัด

ระยะที่ 4 ขยายครอบคลุมทั้งประเทศในปี 2567

“จาก 30 บาท รักษาทุกโรค สู่ 30 บาท รักษาทุกที่ สามารถมอบประโยชน์มากมายให้กับผู้ใช้สิทธิบัตรทอง เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอน ลดเวลา ลดความยุ่งยากในการเข้ารับบริการ ได้แก่ การจองคิวออนไลน์ ลดเวลารอคิว ผู้ป่วยใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ร้อยเอ็ด แพร่ เพชรบุรี และนราธิวาส

สามารถจองคิวผ่านแอปหมอพร้อม ไม่ต้องไปโรงพยาบาลแต่เช้าเพื่อจับคิวไปถึงโรงพยาบาลตรงตามนัด แสดงหน้าจอหมอพร้อมและบัตรประชาชน รอคิวสั้นลง ไม่ต้องกังวลเรื่องคิวชน 2.Health Rider รับยาทางไปรษณีย์ ร้านยาใกล้บ้าน หรือใช้บริการ Health Rider

3.เข้ารับบริการการแพทย์และเภสัชกรรมทางไกลจากที่บ้านผู้ป่วยใน 4 จังหวัดนำร่อง ไม่ต้องขอใบส่งตัว ไปโรงพยาบาลไหนก็ได้ แสดงบัตรประชาชน 4.ใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ ขอใบรับรองแพทย์ดิจิทัลผ่านแอปหมอพร้อม สะดวก รวดเร็ว

5.สามารถเข้ารับหน่วยบริการนวัตกรรม ได้แก่ ร้านยา, คลินิกการพยาบาล, ทันตกรรม, การภาพบำบัด, คลินิกเวชกรรม, คลินิกเทคนิคการแพทย์, คลินิกแพทย์แผนไทย ที่ร่วมโครงการ 6.ขอข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคล และ 7.รับบริการตรวจเลือดที่ร้านแล็บใกล้บ้านได้

นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เป็นการต่อยอดจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนาน มุ่งมั่นพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยให้ก้าวหน้า ทันสมัย ตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ สู่เป้าหมายการสร้างสังคมที่มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน”

ด้านนายจอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า WHO มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมสุขภาพ รักษาโลกนี้ให้ปลอดภัย และช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในระดับสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยสิทธิทางสุขภาพ หมายความว่าบริการด้านสุขภาพ ที่มีคุณภาพ” ควร “มีพร้อม” “เข้าถึงได้” “เป็นที่ยอมรับ” และ “อยู่ในราคาที่สามารถจ่ายได้” ตลอดเวลาสำหรับทุกคน

‘สธ.-WHO’ เดินหน้า สุขภาพดี ทั่วไทย ด้วยระบบดิจิทัลสุขภาพ

โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อทางการเมือง สภาพเศรษฐกิจหรือสังคม และทุกที่ รวมถึงในกรณีฉุกเฉินไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนด้านการเงิน และเรื่องของสุขภาพ ไม่ใช่เพียงแค่ปราศจากโรคเท่านั้น แต่ยังต้องมีสภาวะความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม นอกจากการเข้าถึงการดูแลสุขภาพแล้ว

ยังรวมถึงการศึกษา การได้รับข้อมูลข่าวสาร น้ำดื่มที่สะอาด อากาศที่สะอาด โภชนาการที่ดี ที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ การทำงานที่เหมาะสม สภาพแวดล้อม ปราศจากการเลือกปฏิบัติ มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น

“WHO มีความภูมิใจที่ได้ร่วมกับรัฐบาลไทย ในการพัฒนาและปรับปรุงระบบดิจิทัลสุขภาพ โดยการทำงานร่วมกันนี้ เชื่อว่าประเทศไทยจะเข้าใกล้การบรรลุวิสัยทัศน์ของการดูแลสุขภาพ ของทุกคนอย่างเท่าเทียม ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะคนไทย แต่ยังครอบคลุมไปถึงทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทย

และเนื่องในวันอนามัยโลก จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันสร้างความมั่นใจในเรื่องสิทธิทางสุขภาพ โดยการสร้างความมั่นใจให้ทุกคนทราบถึงสิทธิของตนเอง สานต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นและมีคุณภาพ ทุกที่และทุกเวลาโดยไม่ต้องเผชิญหน้ากับความเดือดร้อนด้านการเงิน

ทั้งนี้ได้มีการนำเสนอการพัฒนาระบบประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิและบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย (Health Insurance for Non-Thai People System : HINT) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย โดยระบบ HINT นี้ได้ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ในประเด็นที่ 7 ด้านสาธารณสุขชายแดน พื้นที่เฉพาะ และกลุ่มเปราะบาง และประเด็นที่ 10 ด้านดิจิทัลสุขภาพ เพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียน และเบิกจ่าย Real Time บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ และลงทะเบียน เพิ่มการเข้าถึงบริการในกลุ่มประชากรเฉพาะ

โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลสุขภาพ มาใช้ในการยืนยันตัวตนของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิและบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย และพัฒนาการเบิกจ่ายให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้หน่วยบริการได้รับงบประมาณไปพัฒนาบริการสุขภาพให้กับผู้รับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,986 วันที่ 25 - 27 เมษายน พ.ศ. 2567