17 พฤษภาคม "วันความดันโลหิตสูงโลก" โรคร้ายที่ถูกขนานนามว่า ฆาตกรเงียบ

17 พ.ค. 2567 | 00:30 น.

17 พฤษภาคม 2567 ถือเป็นวันความดันโลหิตสูงโลก โรคร้ายที่ WHO ขนานนามว่า "ฆาตกรเงียบ" เพราะไม่มีอาการเตือนแต่ส่งผลร้ายต่ออวัยวะในร่างกาย กรมควบคุมโรค เผย คนไทยป่วยโรคนี้สูงถึง 1 ใน 4 ของประชากรมีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เข้ารับการรักษา

สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก กำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็น "วันความดันโลหิตสูงโลก" (World Hypertension Day) เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักและเห็นความสำคัญของการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง โดยรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวและตระหนักเห็นความสำคัญของการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ 

เน้นให้ประชาชน รู้ค่าระดับความดันโลหิตและระดับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงของตนเอง ตลอดจนการปฏิบัติตนเพื่อดูแลรักษาระดับความดันโลหิต ระดับคลอเลสเตอรอลและน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับปกติ เป็นการป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน, ไตวาย และตาบอด เป็นต้น 

โรคความดันโลหิตสูง

เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบได้มากที่สุด และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร "โรคความดันโลหิตสูง" ถือเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวต่อร่างกาย โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ขนานนาม "โรคความดันโลหิตสูง" ว่า "ฆาตกรเงียบ" หรือ Silence Killer เพราะหากปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่เป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่ออวัยวะต่าง ๆ หลายระบบในร่างกาย

17 พฤษภาคม \"วันความดันโลหิตสูงโลก\" โรคร้ายที่ถูกขนานนามว่า ฆาตกรเงียบ

ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรังที่ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติได้อย่างต่อเนื่อง มักเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะที่สำคัญ เช่น หัวใจ หลอดเลือด ตา ไต และสมอง ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงสถานการณ์ประเทศไทยว่า พบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 14 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 25.4 หรือ ประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด โดยมีการขึ้นทะเบียนรักษาเพียง 7 ล้านคนหรือครึ่งหนึ่งเท่านั้น มีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแต่ไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้มากถึง 2.8 ล้านคนซึ่งอาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพอื่นตามมาได้

สำหรับวันความดันโลหิตสูงโลก ปี 2567 นี้ให้ความสำคัญในประเด็นรณรงค์ "วัดความดันอย่างไร สูงเกินไปคุมให้ดี ช่วยยืดชีวีให้ยืนยาว"

17 พฤษภาคม \"วันความดันโลหิตสูงโลก\" โรคร้ายที่ถูกขนานนามว่า ฆาตกรเงียบ

ความดันโลหิต คือ อะไร

ค่าความดันเลือดที่เกิดจากการบีบตัวของหัวใจเพื่อไหลเวียนนำออกซิเจนไปเลี้ยงทั่วร่างกาย การวัดความดันโลหิตบ้าง แม้ไม่มีอาการอะไรช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูงได้ โดยค่าความดันเลือด แบ่งออกเป็น

  • ค่าความดันตัวบน เป็นค่าความดันขณะที่หัวใจบีบตัว
  • ค่าความดันตัวล่าง เป็นค่าความดันขณะที่หัวใจคลายตัว

เกณฑ์การควบคุมความดันโลหิต  

  • น้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท เกณฑ์มาตราฐานปกติ
  • มากกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท คือ เริ่มสูงต้องเริ่มปรับพฤติกรรม
  • สูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่า ป่วยเป็นความดันโลหิตสูงต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์และเข้ารับการรักษา
  • สูงเกิน 160/100 มิลลิเมตรปรอท คือ สูงมากซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
  • สูงเกิน 180/110 มิลลิเมตรปรอท สูงถึงขีดอันตรายต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

หากผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานและไม่ได้รับการรักษา ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้นและอาจมีอาการต่าง ๆ ได้แก่ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หน้ามืด ใจสั่น ตาพร่ามัว เป็นลมหมดสติ และเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา ได้แก่ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

วิธีป้องกัน รักษาโรคความดันโลหิตสูง

-งดทานอาหารรสเค็มหรือมีโซเดียมสูง

คนทั่วไปที่ไม่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงไม่ควรทานโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ถ้าป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้วไม่ควรเกิน 1500 มิลลิกรัมต่อวัน 

-ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ 

-ลดความอ้วน ให้ค่า BMI ไม่เกิน 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร แต่ถ้าคนที่ความดันสูงมากหรือคนที่ปรับพฤติกรรมแล้วแต่ความดันยังเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท ต้องรับประทานยาร่วมด้วย

ผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอถึงแม้จะไม่มีอาการเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมากและทำให้เสียชีวิตได้

17 พฤษภาคม \"วันความดันโลหิตสูงโลก\" โรคร้ายที่ถูกขนานนามว่า ฆาตกรเงียบ

ข้อมูล กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข