14 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติดรวม 63 ราย ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกสนับสนุนนโยบายรัฐบาล เรื่อง การนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 ถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า
ตามที่เป็นข่าวเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า นายกฯมอบนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยขอให้แก้ไขเรื่อง การนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 และเร่งออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้นโดยเครือข่ายฯ สนับสนุน 6 ประการ ดังต่อไปนี้
1.การปลดกัญชาเสรีด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565 เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมติคณะกรรมการ ป.ป.ส. ที่ให้ สธ.รอการบังคับใช้ 120 วันจนกว่าจะมีกฎหมายควบคุมกัญชาโดยเฉพาะออกมาบังคับใช้ และให้เลื่อนการปลดกัญชาเสรีออกไปได้หากกฎหมายกัญชายังไม่แล้วเสร็จ
จุดมุ่งหมาย คือ เพื่อต้องให้มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่ดีเพียงพอก่อน แต่ สธ.ยังคงเดินหน้าบังคับใช้ให้เกิดการปลดกัญชาเสรีแม้จะยังไม่มีกฎหมายกัญชาออกมา จึงเป็นการปลดกัญชาเสรีที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมตามกระบวนการทางกฎหมายตั้งแต่ต้น
2.การปลดกัญชาเสรีนี้ก่อให้เกิดสถานการณ์ "กัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศ" ทันที คือ ไม่มีมาตรการควบคุมเลยโดยสิ้นเชิง ผู้ใดจะปลูกหรือจะเสพทำได้หมดโดยไม่มีมาตรการควบคุมใด ๆ
ต่อมา สธ.ทยอยออกมาตรการควบคุมตามมาจำนวนหนึ่ง แต่ก็เป็นมาตรการที่ไม่มีประสิทธิผลและบังคับใช้ยาก เป็นผลให้เกิดการปลูกกัญชาทั่วประเทศทั้งแบบครัวเรือนและแบบพาณิชย์โดยไม่ต้องขออนุญาต ส่งผลให้เยาวชนเข้าถึงและเสพติดดอกกัญชาได้ง่ายจากการปลูกเอง ขโมย หรือได้รับจากเพื่อน ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของกัญชาทั่วประเทศไทย
3.การแพร่ระบาดของกัญชานี้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง มีผู้เสพกัญชามากขึ้นทั่วประเทศ จำนวนผู้ป่วยจิตเวชเกี่ยวกับการใช้กัญชาที่เข้ารับการรักษาในหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง (แต่ข้อมูลนี้ไม่ถูกเปิดเผยอย่างเป็นทางการ) ครูและผู้ปกครองสะท้อนปัญหาเยาวชนเสพกัญชาอย่างกว้างขวางทั่วไป
4.การนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 ด้วยการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขจะทำให้กัญชากลับไปอยู่ภายใต้การควบคุมของประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์อยู่แล้ว
การพัฒนาให้ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้น หรือการสนับสนุนเศรษฐกิจกัญชาทางการแพทย์ เป็นสิ่งที่ทำได้โดยการออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องและพัฒนาการบริหารจัดการการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดในแบบที่ สธ.ในรัฐบาลก่อนทำมา ซึ่งก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศในระยะยาว และทำให้สูญเสียคะแนนนิยมทางการเมืองอีกด้วย
5.ข้อโต้แย้งของผู้ดำเนินธุรกิจกัญชา หรือผู้ที่ปลูกกัญชาแล้วว่า จะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เหตุผลในการหยุดยั้งนโยบายนำกัญชากลับไปเป็นยาเพสติด
เนื่องจาก (ก) ผู้ที่ดำเนินธุรกิจต้องประเมินความเสี่ยงและรับผิดชอบการกระทำของตนเองอยู่แล้วทั้งด้านกำไรและขาดทุน (ข) หากกำหนดบทเฉพาะกาล เช่น อนุโลม 3-6 เดือนสำหรับกัญชาที่ปลูกไว้แล้ว แต่ไม่ให้ปลูกใหม่ กัญชาที่ปลูกไว้แล้วจะตายไปโดยธรรมชาติเพราะเป็นพืชล้มลุก เป็นการบรรเทาความเสียหายเชิงเศรษฐกิจที่เพียงพอแล้ว และ (ค) รัฐบาลต้องคำนึงถึงคนทุกกลุ่ม ผู้ปลูกและผู้ดำเนินธุรกิจกัญชามีจำนวนเพียงหลักพันหรือหลักหมื่น แต่เยาวชนที่สมองถูกทำลายได้ด้วยกัญชา
พ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดี ครูที่ต้องสั่งสอนลูกศิษย์ พระที่ต้องสอนศีลธรรม หมอและพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วย มีจำนวนหลายสิบล้านคน อีกทั้งนักการมืองที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลต้องไม่ให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระยะสั้นมาบดบังผลกระทบทางสังคมในระยะยาว
6.การปลดดอกกัญชาจากการเป็นยาเสพติดซึ่งเป็นผลให้ใช้กัญชาเพื่อความบันเทิงได้ เป็นการขัดต่อข้อตกลงระหว่างประเทศ คือ อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ. 1961 ฉบับแก้ไขที่ขณะนี้ยังคงอนุญาตให้ใช้กัญชาได้ในทางการแพทย์เท่านั้น
ก่อให้เกิดผลกระทบ คือ ประเทศที่ฝ่าฝืนต่ออนุสัญญาฯนี้มีโอกาสถูกห้ามนำเข้ายารักษาอาการปวดบางประเภท (เช่น มอร์ฟีน) ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อระบบการแพทย์และผู้ป่วยอย่างมาก
เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชน ต้านภัยยาเสพติด จึงส่งจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้มาเพื่อสนับสนุนนโยบายนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 และการใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์เท่านั้นของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ณ โอกาสนี้ และจะติดตามการทำงานของรัฐบาลในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดจนกว่าบรรลุผลต่อไป