หญิงไทยป่วย ‘มะเร็งเต้านม’ อันดับ 1 รพ.วิมุต แนะรู้เร็ว หายได้

20 เม.ย. 2567 | 12:06 น.
อัปเดตล่าสุด :20 เม.ย. 2567 | 12:36 น.

เผยสถิติหญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 34.2% รั้งอันดับหนึ่ง “พญ.กอบกาญจน์ ชุณหสวัสดิกุล” แพทย์เวชศาสตร์ป้องกันฯ แนะตรวจเร็ว รักษาเร็ว โอกาสหายขาดสูง

พญ.กอบกาญจน์ ชุณหสวัสดิกุล แพทย์เวชศาสตร์ป้องกันและผู้บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มะเร็งเต้านม กลายเป็นโรคร้ายอันดับหนึ่งที่พบในผู้หญิงไทย คิดเป็น 34.2% ของมะเร็งทั้งหมดในเพศหญิง อย่างไรก็ดีอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมในไทยเฉลี่ย 6.6% ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนัก หากผู้หญิงรู้เร็ว รักษาเร็ว โอกาสหายขาดก็จะสูงขึ้น

“มะเร็งเต้านม” เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม เซลล์เหล่านี้จะแบ่งตัวผิดปกติอย่างไม่ควบคุม ส่งผลให้เกิดก้อนเนื้อร้ายในเต้านม มะเร็งเต้านมสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย โดยอาศัยระบบน้ำเหลือง มักพบการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ กระดูก ปอด ตับ และสมอง เมื่อเซลล์มะเร็งมีจำนวนมากขึ้น จะแย่งสารอาหารจากเซลล์ปกติ ปล่อยสารพิษที่ทำลายอวัยวะต่างๆ ส่งผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย

พญ.กอบกาญจน์ ชุณหสวัสดิกุล

มะเร็งเต้านม โรคร้ายที่ครองอันดับหนึ่งของมะเร็งที่พบในผู้หญิงไทย คิดเป็น 34.2% ของมะเร็งทั้งหมดในเพศหญิง แม้จะพบได้น้อยในผู้ชาย ก็ถือเป็นภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม แม้มะเร็งเต้านมจะพบบ่อย แต่โอกาสรอดชีวิตก็สูง อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมในไทยอยู่ที่ 6.6% โดยมีสาเหตุหลักได้แก่

1. ภาวะอ้วน นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและเบาหวานแล้ว ภาวะอ้วนยังส่งผลต่อมะเร็งเต้านม ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวปกติ

2. ความผิดปกติทางพันธุกรรม หากมีญาติสายตรง (แม่ น้องสาว พี่สาว หรือบุตร) เป็นมะเร็งเต้านม ผู้หญิงคนนั้นจะมีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหากญาติเป็นมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 50 ปี ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำ

3. ไม่เคยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้นมบุตรช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมได้ เนื่องจากช่วงให้นมบุตร ร่างกายผู้หญิงจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนต่ำ ทำให้ประจำเดือนไม่มา ส่งผลดีต่อสุขภาพเต้านม

4. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเหล้า เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม ผู้หญิงที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 2-5 แก้วต่อวัน มีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่ดื่มถึง 1.5 เท่า

ลักษณะที่บ่งชี้หรือต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็งเต้านม ได้แก่ คลำได้ก้อนแข็งในเต้านม,มีความเปลี่ยนแปลงของลักษณะผิวเต้านม, มีก้อนขรุขระ, ผิวหนังแข็ง, หัวนมบุ๋ม และเลือดออกจากหัวนม เป็นต้น

อย่างไรก็ดีวิธีการรักษามะเร็งเต้านมให้ได้ผลดีจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์หลายสาขาอันดับประกอบด้วย ศัลยแพทย์เต้านม, อายุรแพทย์เคมีบำบัด และแพทย์รังสีรักษา โดยวิธี การรักษาหลักมีอยู่ 5 วิธี คือ 1. การรักษาโดยการผ่าตัด 2. การรักษาโดยการฉายแสง (รังสีรักษา) 3. การรักษาโดยยาต้านฮอร์โมน 4. การรักษาโดยยาเคมีบำบัด 5. การรักษาโดยยาที่มีการออกฤทธิ์จำเพาะ

ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม แต่มีวิธีลดความเสี่ยงได้คือ 1.การควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วนมีความเสี่ยงสูง 2.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ช่วยลดความเสี่ยงได้ 3. ทานอาหารดีต่อสุขภาพ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช เลี่ยงอาหารแปรรูป ไขมันอิ่มตัว 4. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม 5. ตรวจเต้านมด้วยตนเอง สังเกตความผิดปกติ คลำก้อนเนื้อเป็นประจำ

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,985 วันที่ 21 - 24 เมษายน พ.ศ. 2567