CDC เตือนแนวโน้ม “โรคหัด” ระบาดในสหรัฐพุ่งแซงปี 66 WHO ย้ำความสำคัญของวัคซีน

24 มี.ค. 2567 | 00:09 น.

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (CDC) เผยข้อมูลใหม่ว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยโรคหัดในสหรัฐ 64 ราย ซึ่งสูงกว่ายอดผู้ป่วยโรคหัดทั้งปีในปี 2566 ที่มีเพียง 58 ราย แต่ย้ำกว่าการเตือนนี้เพื่อการตระหนัก-ป้องกัน ไม่ใช่เพื่อให้ตื่นตระหนก ขณะ WHO ย้ำความสำคัญของการฉีดวัคซีนป้องกัน

ดร.เดเมเตร ดาสกาลาคิส ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิคุ้มกันและโรคทางเดินหายใจแห่งชาติของ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) แห่งสหรัฐอเมริกา ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของจำนวน ผู้ป่วยโรคหัด ว่า เป็นเรื่องต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากเกิดการแพร่กระจายของโรคหัดในขณะนี้ในหลายพื้นที่ และผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็ก 

อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าเป็นการเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวัง มากกว่าจะทำให้เกิดการตื่นตระหนก

ดร.ดาสกาลาคิสกล่าวเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 มี.ค.) ว่า ชุมชนส่วนใหญ่ทั่วสหรัฐมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงพอที่จะป้องกันไวรัสโรคหัดที่มีความสามารถในการแพร่เชื้อสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแม้พบผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยนับตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงขณะนี้ มีผู้ป่วยโรคหัดในสหรัฐ 64 ราย ซึ่งสูงกว่ายอดผู้ป่วยโรคหัดทั้งปีในปี 2566 ที่มีเพียง 58 ราย แต่จำนวนผู้ป่วยยังคงลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับสถิติในปี 2562 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,200 รายทั่วประเทศสหรัฐ โดยมากกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนนี้เป็นเด็ก

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของ CDC กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องเตือนที่น่าวิตกว่า แม้ว่าจะมีวัคซีนป้องกันไวรัสที่มีประสิทธิภาพ แต่โรคหัดก็ยังคงเป็น “ภัยคุกคาม” ต่อสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ด้านคณะแพทย์กล่าวว่า มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคหัดในขณะนี้ ซึ่งกรณีดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

CDC ระบุว่า การพบโรคหัดจำนวนมากในสหรัฐปีนี้ เชื่อมโยงกับการเดินทางระหว่างประเทศจากจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว เช่น อังกฤษ ออสเตรีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีการระบาดของโรค โดยประชาชนจำนวนมากในสหรัฐที่ติดเชื้อโรคหัดนั้นเป็นเด็กอายุ 12 เดือนขึ้นไปที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ โรคหัดเป็นโรคติดต่อจากทางเดินหายใจ และผู้เป็นโรคหัด 1 คนสามารถแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังคนอื่นได้ถึง 15 คน โดยลักษณะอาการแสดงที่สำคัญของโรคหัดคือ มีไข้สูง มีน้ำมูก ตาแดง และมีผื่นสีแดงขึ้นตั้งแต่ไรผม ตามลำตัวไปจนถึงเท้า และโรคนี้ยังส่งผลให้มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 

CDC เตือนแนวโน้ม “โรคหัด” ระบาดในสหรัฐพุ่งแซงปี 66 WHO ย้ำความสำคัญของวัคซีน

การแพร่ระบาดในเอเชีย

นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ในช่วงก่อนหน้านี้ยังมีข่าวการแพร่ระบาดของโรคหัดในประเทศแถบเอเชีย โดยที่ญี่ปุ่น ช่วงกลางเดือนมีนาคม เพจเฟซบุ๊ก สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา แนะนำให้พลเมืองไทยในพื้นที่สวมหน้ากากอนามัยขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะหรืออยู่ในที่ชุมชน หมั่นรักษาสุขอนามัยโดยเฉพาะการล้างมือ สังเกตอาการของตนเอง และให้พบแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำในการรับวัคซีนหรือรับการรักษา หลังพบการแพร่ระบาดของ โรคหัด (Measles) ในญี่ปุ่น

โดยสื่อญี่ปุ่นรายงานยอดรวมผู้ติดเชื้อหัดในญี่ปุ่นช่วงเวลานั้น มีรวม 8 คน ทั้งในภูมิภาคคันไซและภูมิภาคอื่น ๆ เช่น นครโอซากา จ.เกียวโต จ.ไอจิ จ.กิฟุ และกรุงโตเกียว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแพร่ระบาดที่เริ่มขยายวงออกไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้ เมื่อปี 2559 มีการแพร่ระบาดของโรคหัดในญี่ปุ่นโดยมีผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 744 คน

ขณะที่เวียดนาม มีรายงานช่วงวันที่ 20 มี.ค. ว่า มีการตรวจพบผู้ป่วยโรคหัด 42 ราย ใน 13 จังหวัดของประเทศเวียดนาม พร้อมทั้งเรียกร้องหน่วยงานท้องถิ่นให้เสริมสร้างความเข้มข้นในการตรวจหาโรค เพื่อจะสามารถพบการติดเชื้อตั้งแต่ขั้นต้น

ด้าน องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์ว่า การที่จำนวนผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโรคในเวลานี้ ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ไม่ได้รับวัคซีน เนื่องจากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระบบสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลกมีงานล้นมือจนเกิดความล่าช้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆตามปกติ ทั้งนี้ มีรายงานว่า โรคดังกล่าวเคยมีการระบาดใหญ่มาแล้วในอดีต โดยในปี 2019 (พ.ศ.2562) มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคหัดทั่วโลก 207,500 ราย หรือเฉลี่ยกว่า 500 คนในแต่ละวัน

WHO ชี้ว่า หากไม่เร่งป้องกัน ในสิ้นปี 2567 นี้ ประชากรโลกราวครึ่งหนึ่งจะมีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรคหัด