โรคหัดระบาด โดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา ได้ประกาศเตือนผ่านทางเพจเฟซบุ๊กกรณีพบการแพร่ระบาดของโรคหัด (Measles) ในภูมิภาคคันไซเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 พร้อมแนะนำให้คนไทยในพื้นที่สวมหน้ากากอนามัยขณะโดยสารขนส่งสาธารณะหรืออยู่ในที่ชุมชน พร้อมให้รักษาสุขอนามัยโดยเฉพาะการล้างมือ สังเกตอาการของตนเองและพบแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำในการรับวัคซีนหรือรับการรักษา
ปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคหัดจัดอยู่ในภาวะที่ทั่วโลกเฝ้าระวังตามคำประกาศเตือนขององค์การอนามัยโลกเพราะสามารถติดต่อแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัดยังอาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ด้วย การทำความเข้าใจเรื่องโรคหัดและรู้จักป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม
รู้จักกับ "โรคหัด"
โรคหัด เป็นโรคติดต่อที่แพร่กระจายสู่บุคคลใกล้ชิดได้อย่างรวดเร็ว เกิดจากเชื้อไวรัสหัด ( Measles Virus) ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคหัด
อาการของผู้ป่วยโรคหัด
ระยะแรก มีอาการคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ น้ำมูกไหล มักไอแห้ง ๆ ตาแฉะ ตาแดง แสบตาเวลาโดนแสง ปากและจมูกแดง ต่อมามีไข้สูง 3-4 วัน มีผื่นนูนแดงติดกันเป็นปื้น ๆ เริ่มขึ้นจากหลังหูลามไปหน้าบริเวณชิดขอบผม แล้วแผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา ผื่นกระจาย ทั่วร่างกายใช้เวลาประมาณ 2 วัน จากนั้นไข้จะเริ่มลดลง
การติดต่อของโรคหัด
เชื้อหัดสามารถติดต่อและแพร่ระบาดผ่านเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และละอองอากาศเข้าสู่ร่างกายโดยการไอ จามและพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด
ผู้ป่วยโรคหัดจะมีเชื้ออาศัยอยู่ในลำคอซึ่งสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ 1-2 วัน ก่อนเริ่มมีผื่นจนถึงระยะมีผื่นขึ้นแล้ว 4 วันหลังจากนั้นเชื้อจะหมดไป
การป้องกันโรคหัด
1.เด็กเล็ก
กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เด็กทุกคนฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน 2 ครั้ง เมื่อเด็กอายุ 9 เดือน และอายุ 2 ปีครึ่ง
2.ผู้ใหญ่
ผู้ที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคหัด ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนหรือไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด 1 ครั้ง