หนึ่งในนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คือมุ่งเน้นในด้านการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศในหลายมิติ โดยเฉพาะการนำเสนอผลงานนวัตกรรมออกมาใน5 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ 2. ด้านสุขภาพ 3. ด้านสังคม4. ด้านเศรษฐกิจ และ 5. ด้านการศึกษา ผ่านการจัดงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” ซึ่งนำเสนอผลงานวิจัยนวัตกรรมและสุขภาพ รวมถึงการสร้างคนเมืองให้มีสุขภาพแข็งแรงที่สามารถนำมาเป็นองค์ความรู้พัฒนาเมือง พัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า อว. ร่วมกับกรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อนำมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีแผนงานที่ร่วมดำเนินงาน ประกอบด้วย 1. เร่งนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปช่วยในการพัฒนาเมืองนวัตกรรมในทุกมิติ
โดยให้ใช้ศักยภาพด้านการวิจัยและนวัตกรรมของ อว. สนับสนุนการทำงานของทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และชุมชน 2. สนับสนุนการพัฒนาต้นแบบพัฒนาเมืองหรือย่าน (City Sandbox) ส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม เช่น ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ฯลฯ 3. สนับสนุนการจัดทำข้อมูล (City Data Platform) ที่สามารถสะท้อนถึงสุขภาพเมือง ทำให้สามารถคาดการณ์อนาคตและแก้ปัญหาได้ตรงจุด
ด้านรศ.น.สพ.ดร.ศุภชัย เนื้อนวลสุวรรณ สัตวแพทยสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องอาหารเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีความเสี่ยงและมีโอกาสก่อให้เกิดโรค จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้ นอกจากอาหารสตรีทฟู๊ด ตามร้านอาหารต่างๆ ก็ต้องเฝ้าระวังด้วย
ยกตัวอย่างจากการสุ่มตรวจก๋วยจั๊บจากร้านอาหาร ขนมจีบกุ้งจากภัตตาคารอาหาร พบเชื้ออีโคไล (Escherichia coli) และเชื้อสตาฟิโลคอคคัส ออเรียส (S.aureus) ที่ก่อให้เกิดโรค ในขณะที่กุ้งแช่น้ำปลาจากร้านแผงลอยข้างทางกลับผ่านเกณฑ์ ไม่พบเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค ฉะนั้นความเสี่ยงทางด้านอาหารมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง
เช่นเดียวกันกับการสั่งผ่านแอพพลิเคชั่นซึ่งไม่ต่างจากอาหารสตรีทฟู๊ด ผู้บริโภคควรได้รับรู้ข้อมูลสื่อสารด้านความเสี่ยงเกี่ยวกับมาตรฐานว่ามีเชื้ออะไรปนเปื้อนอยู่หรือไม่ แม้ในเขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานครมีกองสุขาภิบาลอาหาร กรมอนามัย สุ่มตรวจเป็นระยะ แต่อาจจะไม่ทั่วถึงด้วยหลายปัจจัย ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีแนวทางแก้ไขด้วยการเน้นสุขอนามัย ลดความเสี่ยงการเกิดเชื้อโรคในอาหาร ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ รศ.พญ.สว่างจิค สุรอมร อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า โครงการดุสิตโมเดลและวชิรโทรเวชกรรม เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงโควิด-19 และนำมาใช้ได้จริง เพราะสามารถแก้ปัญหาผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวนมากที่เดินทางมาแออัดอยู่โรงพยาบาลได้
โดยทางคณะแพทย์ได้ร่วมกันคิดแก้ไขด้วยการส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ ผ่านโทรเวชกรรม หรือ เทเลเมดิซีน (Telemedicine) การให้บริการทางการแพทย์ในระยะไกล ซึ่งช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนสำหรับคนเมือง เกิดการเชื่อมข้อมูลของโรงพยาบาลกับแอพลิเคชั่น เป็น Telemedicine Application Vajira@Home
ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 2 หมื่นราย มี 4 ระบบ ได้แก่
1. ระบบปรึกษาแพทย์ทางไกล ให้บริการแบบครบวงจรแล้วส่งยาตรงถึงบ้าน
2. ระบบฉุกเฉิน ผู้ใช้สามารถกดปุ่มในระบบ เรียกรถพยาบาลได้ตลอด 24 ชั่วโมง
3. ประวัติสุขภาพ มีระบุข้อมูลตั้งแต่เปิดประวัติอยู่ในโรงพยาบาลว่ารักษากับแพทย์ท่านใดใช้ยาอะไร ผลตรวจเป็นอย่างไร
4. สมุดบันทึก ค่าความดัน ค่าโลหิต ค่าน้ำตาล อุณหภูมิ รวมถึงปริมาณออกซิเจน คนไข้จะลงข้อมูลให้แพทย์ทุกวันด้วยเครื่องมือเฉพาะที่สามารถตรวจวัดได้ที่บ้าน
สอดรับกับนางสาวอัจฉราพรรณ ยอดรัก ตัวแทนจาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวว่า ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีของกทม. มีพาร์ทเนอร์มารวมกันกว่า 30 ราย มีสถาบันเกี่ยวกับการพัฒนาด้านการแพทย์กระจุกตัวอยู่เป็นจำนวนมาก เหมาะสำหรับพัฒนาการแพทย์ โครงสร้างแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. พัฒนาความสามารถ และบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรม สำหรับส่งเสริมและขับเคลื่อนงานวิจัยออกสู่ท้องตลาด
2. ส่งเสริมใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม
3. การบริหารจัดการเครือข่ายและบริการของย่าน
“การพัฒนาย่านโยธีสามารถพัฒนาได้จากทั้งงานวิจัยและแนวคิดของผู้ประกอบการธุรกิจทั่วประเทศ โดยจะมีหน่วยงานมาร่วมขับเคลื่อนและคอยสนับสนุนให้กลายเป็นธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งมี BOI มารองรับถ้างานวิจัยนั้นต่อยอดสร้างรายได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนในพื้นที่พร้อมขยายต่อไปยังพื้นที่อื่นได้อีก”
ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี อาจารย์ประจำวิชาภาควิศวกรรมคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เทคโนโลยีแชทบอทก็สามารถเป็นนวัตกรรมและสุขภาพได้ โดย “แชท” คือการพูดคุยและ “บอท” คือหุ่นยนต์โต้ตอบ อย่าง Jubjai Bot ที่พัฒนามาจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและภาควิชาจิตเวชโรงพยาบาลศิริราช มีสถิติผู้ใช้อยู่กว่า 1 แสนราย ถือเป็น AI แชทบอทตัวแรกที่พยายามวิเคราะห์อารมณ์และสุขภาพจิตของคน ประเมินระดับผู้ใช้งานได้ว่ามีภาวะสุขภาพจิตอยู่ในระดับใด
นอกจากนี้ยังพัฒนาต่อเป็น AI Psychological Intervention Open Platform เหมาะสำหรับใช้งานด้านสุขภาพจิตโดยตรง และเสริม AI ที่เกี่ยวกับ Mental Health เข้าไป เช่น การวิเคราะห์อารมณ์ วิเคราะห์ปัญหาและแนวโน้มการกระทำของผู้ใช้งาน แต่ละหน่วยงานหรือโรงพยาบาลที่ต้องการนำแชทบอทไปใช้จะ สามารถวิเคราะห์ได้ด้วยว่าผู้ใช้งานมีสุขภาพร่างกายเป็นอย่างไร เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย อายุเท่าไหร่ อาศัยอยู่ในภูมิภาคไหน เป็นต้น
ปัจจุบัน แชทบอทตัวนี้อยู่ในรูปแบบ Health Tech เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเข้าไปช่วยดูแลสุขภาพจิต ในอีกรูปแบบหนึ่งก็ตอบสนองกลุ่มผู้สูงอายุได้ด้วยการพูดคุยโดยใช้เสียงพูดคุยตอบโต้กัน แต่ระบบนี้ยังไม่สามารถทำหน้าที่แทนจิตแพทย์ได้
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,964 วันที่ 8 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567