ม.มหิดล เปิดคลินิกกายภาพบำบัด ‘สุขภาพสตรี’ แห่งแรกในไทย รองรับ 3 โรคยอดฮิต

28 ม.ค. 2567 | 17:30 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2567 | 18:17 น.
510

แนวโน้มผู้ป่วยกายภาพบำบัดพุ่ง สถิติผู้หญิงป่วยสูงกว่าผู้ชาย 73% ม.มหิดล เดินหน้า “คลินิกกายภาพบำบัดสุขภาพสตรีแห่งแรกในไทย” รองรับ 3 โรคยอดฮิต “อุ้งเชินกรานหดเกร็ง-ปัสสาวะเล็ด-อาการหลังคลอด” พร้อมเสริมบริการกายภาพทางไกลเป็นทางเลือกใหม่

“กายภาพบำบัด” เป็นหนึ่งในวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาหนึ่งทางการแพทย์และสาธารณสุข มีส่วนสำคัญในการรักษาผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย แต่ศูนย์กายภาพบำบัดเฉพาะทางในประเทศไทยแทบจะไม่มีแยกประเภทเจาะจง โดยเฉพาะการบำบัดในผู้ป่วยหญิง

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute) หรือ (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ข้อมูลปี 2550-2558 สัดส่วนของผู้หญิงที่ใช้บริการสุขภาพในประเทศไทยคิดเป็น 73% สูงกว่าผู้ชาย โดยพบผู้ป่วยหญิง 1,7500 รายต่อประชากรรวม1 แสนคน และเพิ่มขึ้นเป็น 25,100 รายต่อประชากรรวมทั้งหมด 1 แสนคน สูงกว่าผู้ชาย 4,000-5,000 ราย แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงมีความเปราะบางมากกว่าผู้ชาย และความเจ็บป่วยของประชากรในประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี

ม.มหิดล เปิดคลินิกกายภาพบำบัด ‘สุขภาพสตรี’ แห่งแรกในไทย รองรับ 3 โรคยอดฮิต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กภ.ภครตี ชัยวัฒน์ อาจารย์นักกายภาพบำบัด คลินิกเฉพาะทางกายภาพบำบัดสุขภาพหญิง คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นอกจากข้อมูลของทีดีอาร์ไอ ยังมีข้อมูลจากศูนย์สุขภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ก่อตั้งมานานกว่า 20 ปี และทำงานด้านกายภาพบำบัดผ่านโครงการดูแลผู้ป่วยชุมชนรอบมหาวิทยาลัย รวมถึงสอนเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพหญิงให้กับชุมชนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี พบผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยหญิงที่ต้องการจะเข้าถึงการดูแลสุขภาพเป็นจำนวนมากแม้ไม่มีการเก็บสถิติอย่างเป็นทางการ

ทางคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดลจึงเปิด “คลินิกกายภาพบำบัดสุขภาพสตรี” เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยได้รับการเทรนความรู้จากบุคลากรของประเทศที่มีศูนย์สุขภาพกายภาพบำบัดเฉพาะทางและเคยทำงานร่วมกันในต่างประเทศ อาทิเช่น อเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

ทั้งนี้ สถิติการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางของคลินิกกายภาพบำบัดสุขภาพสตรีการตั้งแต่ปี 2564-2566 อัตราการใช้บริการของผู้ป่วยในคลินิกเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% จำนวนผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 95.39% พบว่า ผู้ป่วยมีอายุตั้งแต่อายุ 60 ปีขึันไป เป็นกลุ่มที่มาทำการรักษามากที่สุด ถัดมาเป็นช่วงวัย 40-59 ปี และ 30-39 ปี ตามลำดับ ขณะเดียวกันช่วงอายุน้อยที่สุดจะเป็นอายุ 18 ปีขึ้นไป

ม.มหิดล เปิดคลินิกกายภาพบำบัด ‘สุขภาพสตรี’ แห่งแรกในไทย รองรับ 3 โรคยอดฮิต

โดยพบว่า 3 โรคที่ผู้ป่วยหญิงที่มาทำการรักษา แบ่งเป็น 1. อาการกล้ามเนื้ออุ้งเชินกรานหดเกร็ง (ปัสสาวะบ่อย) 50% 2.ปัสสาวะเล็ด 30% และ 3. อาการของคุณแม่ก่อนและหลังคลอด 20% ซึ่งเกิดจากสาเหตุของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทำงานผิดปกติ ทั้งอ่อนแรงหรืออาจจะมีความเกรงกลัวมากเกินไป โดยเฉพาะกลุ่มที่ผ่านการตั้งครรภ์และคลอดบุตรมาแล้ว ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะสนใจการเลี้ยงดูลูกมากกว่าสนใจสุขภาพของตัวเองของตัวเอง และไม่กินยารักษาเนื่องจากกลัวส่งผลกระทบต่อการให้นมบุตร

ปัจจุบันคลินิกกายภาพบำบัดสุขภาพสตรี ได้รับการรับรองในระดับยอดเยี่ยมจากสภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย เปิดให้บริการอยู่ 2 สาขาคือ ศูนย์กายภาพบำบัด ศาลายา และศูนย์กายภาพบำบัด (เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า) คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ทำงานร่วมกับแพทย์เฉพาะทางหรือหมอยูโร (Urologist) ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะเฉพาะและสูตินารีเวชที่มีประสบการณ์ รับผู้ป่วยที่ถูกส่งมาจากโรงพยาบาลศิริราชซึ่งได้ทำ MOU ความร่วมมือกันไว้ และผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเอกชนอีกหลายแห่ง ที่สามารถเข้าถึงบริการได้มากกว่าโรงพยาบาลของรัฐ รักษาด้วยการใช้เครื่องมือกายภาพบำบัดและการออกกำลังกายเฉลี่ย 500-700 รายต่อวัน

“คลินิกเราเปิดทุกวัน รับทำการรัษาทุกช่วงวัยของสุภาพสตรี ตั้งแต่ช่วงอายุวัยรุ่น สตรีตั้งครรภ์ จนไปถึงส่งเสริมให้นมบุตรหลังคลอด และการรักษาอาการต่างๆ รวมถึงอาการผู้สูงอายุที่อยู่ในช่วงวัยทอง มีค่าใช้จ่ายในการรักษาแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน มีนักกายภาพบำบัดมาคอยให้บริการทั้งหมดจำนวน 75 คน ประจำอยู่ในคลินิกจำนวน 6 คน และมีอาจารย์คอยดูแลอีก 1 คน ถือว่ายังอยู่ในกลุ่มอาชีพที่ขาดแคลนบุคลากรหากมองไปถึงการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ”

ม.มหิดล เปิดคลินิกกายภาพบำบัด ‘สุขภาพสตรี’ แห่งแรกในไทย รองรับ 3 โรคยอดฮิต

นอกจากนี้ยังเปิดให้บริการกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัดทางไกล (HealthcaRe Tele-delivery Service) เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ป่วยที่ไม่มีเวลาเดินทางมายังคลินิก หรือในต่างจังหวัด เพื่อติดตามการรักษาทางไกลได้ทุกที่ทุกเวลา สอดคล้องกับบริบทจะที่เปลี่ยนไปในอนาคต

สำหรับภาพรวมสถานการณ์ในปี 2567 พบว่าความต้องการด้านกายภาพบำบัดสุขภาพสตรีสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 มุมมอง ได้แก่ 1. ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับภาวะที่ผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพราะจะเริ่มก้าวสู่จุดสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ฉะนั้นจะต้องพัฒนาองค์ความรู้นวัตกรรมเข้าไปสู่สังคมให้ทันท่วงที 2. ผู้หญิงจะมีภาวะสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงแตกต่างจากผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยรุ่นไปเป็นคุณแม่ หรือจากวัยกลางคนไปเป็นผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ฮอร์โมนและร่างกายเปลี่ยนแปลงเร็ว ฉะนั้นการดูแลสุขภาพที่ส่งเสริม สร้างเสริม และป้องกัน จึงมีความสำคัญ

3. การเข้าถึงบริการด้านกายภาพบำบัดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จำเป็นต่อผู้หญิงยุคใหม่ที่ต้องทำหน้าที่หลายอย่างและไม่มีเวลามากนัก ฉะนั้นต้องเตรียมรับมือนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ในการรักษาสุขภาพ

ผศ.ดร.กภ.ภครตี บอกว่า คลินิกกายภาพบำบัดสุขภาพสตรี คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ยังให้บริการงานวิชาการเกี่ยวกับองค์ความรู้ให้กับนักกายภาพบำบัดทั้ง 12 เขตทั่วประเทศไทยทุกปี ผู้เข้าอบรมขั้นต่ำประมาณ 50 คนต่อปี เกี่ยวกับการรักษาอาการด้านสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนและสุขภาพหญิง ให้สามารถนำไปใช้รักษาได้จริงกับคนไข้ในพื้นที่หรือต่อยอดทำงานงานวิจัย โดยได้รับทุนสนับสนุนต่อเนื่องจากสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ (สสป.) กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงทำงานร่วมกับสภาวิชาชีพกายภาพบำบัดด้วย และยังมีส่วนของงบประมาณที่แบ่งมาสนับสนุนในด้านการส่งเสริมป้องกัน ดูแล และฟื้นฟูสุขภาพทุกกลุ่มวัย

ม.มหิดล เปิดคลินิกกายภาพบำบัด ‘สุขภาพสตรี’ แห่งแรกในไทย รองรับ 3 โรคยอดฮิต

สำหรับเป้าหมายการเปิดคลินิกกายภาพบำบัดสุขภาพสตรีอีกด้านคือ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย โดยมุ่งไปยังเป้าหมายที่ 3 คือ Good Health and Well-being สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย เป้าหมายที่ 5 Gender Equality บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน และ 17 Partnerships for the Goals เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน