รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ปักหมุด Digital Hospital ชูนวัตกรรม เพื่อสุขภาพดี

04 ก.พ. 2567 | 11:55 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.พ. 2567 | 12:16 น.

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ เดินหน้าสู่ Digital Hospital โชว์นวัตกรรมโปรแกรมเพื่อผู้ป่วย ทั้ง “i-Suandok” แอปพลิเคชัน Personal Health Records “Telemedicine” ศูนย์บริการแพทย์ทางไกล “Wheel-B” แพลตฟอร์มบริหารจัดการเปลแบบเรียลไทม์ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า

ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ มุ่งมั่นที่จะไปสู่การเป็น Digital Hospital โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ที่ผ่านการรับรองคุณภาพซึ่งได้รับการรับรอง

โดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) และสมาคมเวชสารสนเทศไทย (TMI) ในปี 2566 ด้านการรับรองคุณภาพระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาล ระดับที่ 2 โดยรพ. พัฒนาโปรแกรม และแอพพลิเคชั่นจำนวนหลายรายการออกมาให้บริการ โดยโปรแกรมที่มีความโดดเด่นมากๆได้แก่

โปรแกรม i-Suandok ซึ่งเป็น Line Application โปรแกรม Personal Health Records ในการบันทึกประวัติผู้ป่วย ที่เข้ามารับบริการ โดยผู้ป่วยสามารถนัดหมายได้ผ่านระบบนี้ รวมทั้งยังสามารถเข้าไปดูประวัติการรักษาพยาบาล ประวัติการใช้ยา ประวัติแลป สามารถติดตามการรักษา ระบบการนัดรับยา หน้าห้องจ่ายยา

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ปักหมุด Digital Hospital ชูนวัตกรรม เพื่อสุขภาพดี

รวมทั้งโปรแกรม i-Suandok ยังสามารถลิงก์ไปยังโปรแกรม Telemedicine ศูนย์บริการแพทย์ทางไกล บริการให้ผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล ทุรกันดาร หรือไม่สามารถเดินทางมายังรพ.ได้ ระบบแพทย์ทางไกลนี้ สามารถพูดคุยกับแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร โดยสามารถแสดงทั้งภาพและเสียง และจัดส่งยาทางไปรษณีย์ แต่หากเป็นการรักษาที่ต้องถึงหัตถการทางการแพทย์ หรือตรวจร่างกาย จะยังมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางมายังรพ. เนื่องจากการพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ยังต้องเดินทางมายังรพ.

ถัดมาจะเป็นโปรแกรม นวัตกรรม Wheel-B แพลตฟอร์มการจัดการเปล ซึ่งเป็นวิจัยและพัฒนาโดยทีมวิศวกร จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สามารถเรียกเปลจากหอผู้ป่วย ผ่านระบบดิจิทัล เพื่อจ่ายงาน เช็คเส้นทางของเปล ตำแหน่งของเปลได้แบบเรียลไทม์ ซึ่ง Wheel-B เป็นโปรแกรมที่แก้ไขปัญหาของรพ. ในเรื่องการนำส่งผู้ป่วยตามหอผู้ป่วยต่าง ตามจุดหมายปลายทาง

โดยใช้ระบบดิจิทัลในการร้องขอพนักงานเปลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จ่ายงานตามระบบความเร่งด่วนของพนักงานเปล แก้ไขปัญาหา ผิดคน ผิดที่ พร้อมอุปกรณ์ สแกนสถานที่รับผู้ป่วย ผ่านเลขประจำตัวของผู้ป่วย พร้อมส่งผู้ป่วยอย่างแม่นยำยิ่งขึ้น อีกทั้งสามารถติดตามการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังจุดหมายได้ตลอดเวลา เพิ่มประสิทธิการการนำส่งผู้ป่วยของรพ.ไปยังจุดหมายได้

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ปักหมุด Digital Hospital ชูนวัตกรรม เพื่อสุขภาพดี

นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมการเชื่อมต่อข้อมูลรพ. ในจังหวัดเชียงใหม่ (Health Information Exchange) โดยเชื่อมโยงข้อมูลของรพ.ในเครือข่ายสาธารณสุข ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยที่เดินทางเข้ารับการรักษาในรพ.มหาราชนครเชียงใหม่ สามารถนำส่งข้อมูลที่เคยได้รับการรักษาจากรพ. ในเครือสาธารณสุขผ่านระบบออนไลน์ มายังรพ. มหาราชนครเชียงใหม่ได้ทันที ทำให้ประหยัดเวลาการเดินทางในการขอประวัติเดิม และสามารถทราบข้อมูลสำคัญๆได้อย่างทันท่วงที

โปรแกรม I-MATCH คือการเจาะเลือดให้ถูกคน เมื่อมีการเจาะเลือดทุกครั้ง จะมีการติดบาร์โค้ดที่หลอดเก็บเลือด และใช้เครื่องแสกนอ่านบาร์โค้ด ที่หลอดเก็บเลือด และป้ายข้อมือผู้ป่วย เพื่อพิสูจน์ตัวตนของผู้ป่วย เพื่อเป็นการสร้างความแม่นยำในการนำเลือดส่งไปยังห้องปฏิบัติการ และโปรแกรม I-TRANS คือโปรแกรมการให้เลือดให้ตรงผู้ป่วย เสี่ยงกับการให้เลือดผิดคน อาจทำให้เกิดการเข้ากันไม่ได้ของเลือดผู้ป่วยอาจถึงแก่ชีวิตได้

ผศ.นพ.นเรนทร์ กล่าวอีกว่า ล่าสุดรพ.ได้เปิดให้บริการห้องฉุกเฉินระบบดิจิทัลแบบครบวงจร ที่ทันสมัยที่สุดในภาคเหนือ (One-Stop-Service ER) ซึ่งประกอบไปด้วยห้องสวนหัวใจและหลอดเลือด (CATH LAB) และห้องเอ็มอาร์ไอหัวใจ (CARDIAC MRI) เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ได้รับการรักษาทันท่วงที รวมทั้งยังมีห้องตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็ก ห้องแยกดูแลผู้ป่วยวิกฤต ห้องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ห้องแรงดันลบ เป็นต้น

ด้านศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดให้บริการศูนย์เครื่องฉายรังสีแบบเกลียวหมุนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และพร้อมก้าวสู่ศูนย์ฉายรังสีที่มีเครื่องฉายรังสีระบบเกลียวหมุน จำนวนมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยศูนย์เครื่องฉายรังสีแบบเกลียวหมุน ได้ติดตั้งเครื่องฉายรังสีรุ่นใหม่ล่าสุด คือ “Radixact X9” ซึ่งเป็นเครื่องฉายรังสีที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงสุด ทำให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมดถึง 100-120 รายต่อวัน

“การสนับสนุนให้บริการเครื่องฉายรังสีแบบเกลียวหมุนรุ่นใหม่ล่าสุด คือ “Radixact X9” นั้น เป็นการเพิ่มศักยภาพของศูนย์ฉายรังสีของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยวิธีฉายรังสี ทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาดีขึ้น และลดระยะเวลาการรอคอยการเข้ารับบริการฉายรังสี

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ปักหมุด Digital Hospital ชูนวัตกรรม เพื่อสุขภาพดี

ขณะนี้หน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. มีเครื่องฉายรังสีทั้งหมด 4 เครื่อง โดยเป็นแบบเกลียวหมุนจำนวน 3 เครื่อง จึงนับได้ว่าเป็นศูนย์เครื่องฉายรังสีแบบเกลียวหมุนที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดแห่งเดียวในประเทศไทยและมีจำนวนเครื่องฉายรังสีเกลียวหมุนมากที่สุดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

นอกจากนี้คณะฯ ยังให้ความสำคัญกับการหาแนวทางแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดกับสุขภาพของประชาชนรอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องของฝุ่น PM2.5 โดยล่าสุดได้นำร่องปรับปรุงอาคารสุจิณโณ เป็นอาคารผู้ป่วยที่ปราศจาก PM2.5 โดยเป็นการสร้างระบบให้ความดันภายในอาคารสูงกว่าความดันภายนอกบริเวณอาคาร เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นเล็ดลอดเข้ามา ซึ่งจะถูกกรองด้วยระบบกรองอากาศผ่าน Filter 3 ชั้นด้วย

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,963 วันที่ 4 - 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567