WHO คาดการณ์ 25 ปีข้างหน้า ผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกจะพุ่งขึ้นกว่า 75%

02 ก.พ. 2567 | 09:44 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2567 | 10:03 น.
5.7 k

องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า โรคกำลังจะต้องเผชิญกับ "สึนามิโรคมะเร็ง" ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 75% ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือราว 25 ปีข้างหน้า โดยประเทศที่มีรายได้ต่ำจะครองสัดส่วนผู้ป่วยมะเร็งมากที่สุด  

 

สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (International Agency for Research on Cancer) หรือ IARC ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งของ องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดว่า โรคมะเร็ง จะยังคงเป็นภัยคุกคามสุขภาพอนามัยของประชากรโลกและสร้างภาระทางด้านสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยคาดว่า จำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่จะเพิ่มขึ้นจาก 14.1 ล้านรายและผู้เสียชีวิต 8.2 ล้านรายทั่วโลกในปี 2012 (พ.ศ.2555) เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 20 ล้านรายและผู้เสียชีวิต 9.7 ล้านรายภายในปี 2022 (พ.ศ.2565)

จากนั้น IARC คาดการณ์ว่า จะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่มากกว่า 35 ล้านรายภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) ซึ่งเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 77% เมื่อเทียบกับสถิติปี 2022 ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่านับตั้งแต่ปี 2012 เป็นมากกว่า 18 ล้านรายในปี 2050

IARC ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากนั้น คือ การสูบบุหรี่ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และโรคอ้วน เช่นเดียวกับการสูงวัย และการเติบโตของประชากร ก็เป็นปัจจัยหนุนการขยายตัวของจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเช่นกัน

โลกกำลังจะต้องเผชิญกับ "สึนามิโรคมะเร็ง" ภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้า

ดร.เฟรดดี เบรย์ หัวหน้าฝ่ายเฝ้าระวังมะเร็งของ IARC กล่าวว่า ประเทศที่มีรายได้สูงสุดจะมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 4.8 ล้านรายในปี 2050 แต่ประเทศที่มีรายได้น้อยจะพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนมากที่สุด และการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในประเทศกลุ่มรายได้น้อย ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า

“ผลกระทบของการเพิ่มขึ้นนี้จะไม่เท่าเทียมกันในประเทศต่างๆ” ดร. เบรย์ กล่าวว่า ประเทศที่มีทรัพยากรน้อยที่สุดในการจัดการกับโรคมะเร็งก็จะต้องรับภาระหนักของอุบัติการณ์นี้

หน่วยงานเฝ้าสังเกตการณ์สถานการณ์มะเร็งทั่วโลกของ IARC ซึ่งครอบคลุม 185 ประเทศและมะเร็ง 36 ชนิด แสดงให้เห็นว่า มะเร็ง 10 ชนิดครองสัดส่วนประมาณสองในสามของผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่และการเสียชีวิตทั่วโลกในปี 2022 โดยมะเร็งชนิดที่ตรวจพบมากที่สุด คือ

  • อันดับ1 มะเร็งปอด ครอง 12.4% ของผู้ป่วยรายใหม่ และ 18.7% ของการเสียชีวิต
  • อันดับ2 มะเร็งเต้านมในผู้หญิง เป็นรูปแบบมะเร็งที่พบบ่อยรองลงมา เป็นที่สังเกตว่า ถึงแม้มะเร็งเต้านมจะมีสัดส่วนถึง 11.6% ของผู้ป่วยใหม่ แต่ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่า 7%
  • อันดับรองๆลงมาของมะเร็งที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตสูง คือ มะเร็งตับ และ มะเร็งกระเพาะอาหาร

มะเร็งบางชนิดนั้น สามารถป้องกันได้

ความไม่เท่าเทียมกันในแง่รายได้ ทำให้เกิดความแตกต่างชัดในกรณีของโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งพบว่า ผู้หญิงในประเทศที่มีรายได้ต่ำมีโอกาสได้รับการวินิจฉัยและตรวจพบ (มะเร็งเต้านม) น้อยกว่าผู้หญิงในประเทศที่มีรายได้สูงถึง 50% ส่งผลให้พวกเธอมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตด้วยโรคนี้มากขึ้น เนื่องจากการวินิจฉัยล่าช้า และการเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพก็ไม่เพียงพอ

สถิติชี้ว่า ผู้หญิง 1 คนใน 12 คน ในประเทศที่มีรายได้สูงกว่า จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมครั้งหนึ่งในชีวิต และอัตราเสียชีวิตด้วยโรคนี้อยู่ที่ 1 คนใน 71 คน แต่เมื่อมองมาที่ประเทศยากจน จะมีผู้หญิงเพียง 1 ใน 27 คนเท่านั้นที่ได้รับการตรวจพบ และแต่ 1 ใน 48 คนจะเสียชีวิตด้วยโรคนี้

ส่วนกรณีของมะเร็งปากมดลูก แม้จะเป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันได้ แต่มะเร็งชนิดนี้ก็ยังเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 9 ของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง โดยตัวเลขล่าสุดชี้ว่า มีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ 661,044 ราย และผู้เสียชีวิต 348,186 ราย มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงใน 25 ประเทศทั่วโลก โดยหลายประเทศอยู่ในบริเวณตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา

 

มะเร็งปากมดลูกนั้นป้องกันได้ แต่บ่อยครั้งที่ประชาชนในประเทศยากจน ไม่สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐาน รวมทั้งการตรวจวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ

ดร.แครี อดัมส์ หัวหน้าสหภาพควบคุมโรคมะเร็งระหว่างประเทศ(Union for International Cancer Control) อธิบายถึงตัวเลขดังกล่าวว่า แม้จะมีความก้าวหน้าในการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มแรกและการรักษาดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง แต่ผลลัพธ์การรักษามะเร็งก็มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างภูมิภาคที่มีรายได้สูงและภูมิภาคที่มีรายได้ต่ำของโลก นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างภายในประเทศต่างๆ ด้วย

“พื้นที่ที่ผู้คนอาศัยอยู่ไม่ควรเป็นตัวตัดสินว่าพวกเขาควรมีชีวิตอยู่หรือไม่ รัฐบาลมีเครื่องมือที่จะช่วยจัดลำดับความสำคัญของการดูแลรักษาโรคมะเร็ง และทำให้แน่ใจว่า ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและราคาไม่แพง นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาด้านทรัพยากร แต่เป็นเรื่องของเจตจำนงทางการเมืองด้วย

ดร. พานาจิโอตา มิโทร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย นโยบาย และนวัตกรรมของกองทุนวิจัยมะเร็งโลก (World Cancer Research Fund) กล่าวว่า ตัวเลขที่น่าตกใจดังกล่าวทำให้ทั่วโลกตื่นตระหนกเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันอย่างมากในด้านอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งและการเสียชีวิตที่มีอยู่ทั่วทั้งและภายในประเทศต่างๆ ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ประชาคมโลกจะจัดการกับวิกฤตินี้อย่างจริงจัง หากต้องการจะพลิกสถานการณ์

ศาสตราจารย์โซลองจ์ ปีเตอร์ส ประธานมูลนิธิมะเร็งนานาชาติ กล่าวว่าเธอเสียใจกับช่องว่างที่เพิ่มมากขึ้นในการดูแลรักษาโรคมะเร็ง “เป็นเรื่องน่าตกใจที่การใช้จ่ายด้านการรักษาโรคมะเร็งทั่วโลกเพียง 5% ไปถึงประเทศต่างๆ ที่มีภาระด้านมะเร็งถึง 80%”  นอกจากนี้ ยังเห็นว่า โลกมีการพัฒนาวิธีการรักษามะเร็งที่น่าตื่นเต้นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่วิทยาการความด้าวหน้าดังกล่าวกลับเข้าถึงผู้คนได้น้อยลงเรื่อยๆทั่วโลก “แม้ว่าผู้ป่วยในประเทศที่มีรายได้สูงจะสามารถมีชีวิตอยู่และหายจากโรคมะเร็งได้ แต่ผู้ป่วยในประเทศด้อยโอกาสก็เสียชีวิตอย่างเจ็บปวดจากโรคเดียวกันนั้น”

ศาสตราจารย์ปีเตอร์สย้ำว่า  “เราต้องจัดการกับโศกนาฏกรรมทางสังคมและภาระทางเศรษฐกิจนี้  ต้องป้องกันการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งหลายล้านคนผ่านการลงทุนเชิงกลยุทธ์ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำและช่วยชีวิตผู้คนทั่วโลกจากโรคร้ายนี้”

ดร.ฌอง-อีฟ เบลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะของสมาคมเนื้องอกวิทยาทางการแพทย์แห่งยุโรป กล่าวสรุปว่า ขณะที่โลกกำลังคาดการณ์ถึง การเกิด “สึนามิ” ของผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่โถมกระแทกระบบสาธารณสุขของประเทศต่างๆ โลกจำเป็นต้องลงมือดำเนินการ “อย่างรวดเร็วและเด็ดขาด” เพื่อลดตัวการต่างๆที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นการลดมลภาวะ การสัมผัสกับแร่ใยหิน และสารก่อมะเร็งอื่นๆ ต้องบรรเทาพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง และจัดการกับอุปสรรคและความลังเลในการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งชนิดที่สามารถป้องกันได้