29 มกราคม 2567 นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 4 ของผู้หญิงทั่วโลก ในปี 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ย 604,000 ราย เสียชีวิตราว 342,000 ราย โดยร้อยละ 90 ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง
มะเร็งปากมดลูก ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งพบอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปากมดลูกสูงเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทย จากนั้นมีการผลักดันนโยบายการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกระดับประเทศขึ้นทำให้อุบัติการณ์มะเร็งปากมดลูกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกจัดอยู่ในอันดับ 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย มีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 15 ราย หรือ 5,422 คนต่อปี และเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 6 ราย หรือ 2,238 คนต่อปี โดยสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อ HPV (Human papillomavirus)
ด้านแพทย์หญิงปานวาด รัตนศรีทอง แพทย์เฉพาะทางสาขามะเร็งวิทยานรีเวช สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การติดเชื้อ HPV เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่สามารถติดได้ทั้งที่ผิวหนัง อวัยวะเพศ ในช่องปากและลำคอ โดยปกติผู้ที่มีเพศสัมพันธ์สามารถติดเชื้อไวรัสนี้ได้แต่มักจะไม่แสดงอาการ
อย่างไรก็ตาม ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราสามารถที่จะกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้เอง มีเพียง 5-10% เท่านั้น ที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถกำจัดเชื้อ HPV สายพันธุ์ความเสี่ยงสูงออกไปได้ ทำให้การติดเชื้อคงอยู่นาน(persistent HPV) และเชื้อเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดความผิดปกติในเซลล์
นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ในที่สุดซึ่งการติดเชื้อ HPV ในลักษณะคงอยู่นานหรือPersistent HPV นี้ ถ้าไม่ได้รับการรักษา จะเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 95% โดยจะใช้เวลาประมาณ 15-20 ปี ในการเปลี่ยนแปลงหลังการติดเชื้อจนกลายไปเป็นเซลล์มะเร็ง
การติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ความเสี่ยงสูงมักพบในคนที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุน้อยกว่า 18 ปี หรือในคนที่มีการเปลี่ยนคู่นอนหลายคน ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งปากมดลูก เช่น ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และการสูบบุหรี่ เป็นต้น
นับเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งที่เราสามารถทราบอย่างแน่ชัดว่า สาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูกคือการติดเชื้อ HPV ดังนั้น เราจึงสามารถหาวิธีป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันแบ่งการป้องกันออกเป็น 2 ส่วน คือ การป้องกันแบบปฐมภูมิ (primary prevention) ได้แก่ การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV และการป้องกันแบบทุติยภูมิ (secondary prevention) ได้แก่ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ
การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV สามารถฉีดได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายที่อายุ 11 ปี ส่วนผู้ที่อายุมากกว่านี้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ก็สามารถเข้าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการฉีดวัคซีนได้จนถึงอายุ 45 ปี แต่เนื่องจากวัคซีนไม่สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ทั้งหมด
ดังนั้น การเข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องจำเป็น สำหรับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ปัจจุบันที่ทำกันอย่างแพร่หลายทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ได้แก่
สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองเพื่อตรวจหาเชื้อ HPV ได้ฟรีทุก 5 ปี หรือขอรับชุดตรวจหาเชื้อ HPV ด้วยตนเองที่โรงพยาบาลใกล้บ้านซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับสตรีที่ไม่สะดวกมารับการตรวจที่โรงพยาบาล