PRINC ผนึกภาคีเครือข่ายมุ่ง Net Zero ด้วยวิธี Science-Based Target

02 ก.พ. 2567 | 04:56 น.

PRINC จับมือพันธมิตร 20 แห่งลงนามร่วมกับ อบก. - ธรรมศาสตร์ เป็นองค์กรนำร่อง มุ่งสู่ Net Zero ด้วยวิธี Science-Based Target

บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล หรือ PRINC ร่วมกับองค์กรที่ได้รับการคัดเลือกเป็นองค์กรนำร่องรวม 20 แห่ง ลงนามความร่วมมือโครงการส่งเสริมการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ด้วยวิธี Science-Based Target จัดโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านพลังงานเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อติยา อาวัชนาการ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านความยั่งยืน บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล หรือ PRINC กล่าวว่า แม้ธุรกิจโรงพยาบาลจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเปรียบเทียบน้อยกว่าธุรกิจอื่นๆ แต่อย่างไรก็สร้างผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจากการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะจากการใช้พลังงาน หรือเกิดขยะของเสีย แต่ด้วยปณิธานของเครือที่มุ่งสร้างคนที่มีจิตใจของความเป็นผู้ให้ ในการร่วมดูแลคน ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม จึงทำให้โรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดทั้งห่วงโซ่การให้บริการทางการแพทย์

 

 เมื่อ 2 ปีที่แล้ว PRINC ร่วมกับพันธมิตรอีก 6 องค์กร เข้าร่วมโครงการขยายผลกิจกรรมชดเชยคาร์บอนเพื่อสนับสนุนตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศของ อบก. และได้เริ่มชดเชยคาร์บอน และมีสถานะความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ตั้งแต่ในปี 2564 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังดำเนินการเพื่อเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด โดยในปัจจุบัน PRINC ติดตั้ง Solar Rooftop แล้วในรพ. ในเครือ 5 แห่งและสามารถใช้พลังงานสะอาดทดแทนในสัดส่วนกว่า 20% ของปริมาณการใช้ไฟทั้งหมด

PRINC ผนึกภาคีเครือข่ายมุ่ง Net Zero ด้วยวิธี Science-Based Target

“PRINC ได้เตรียมกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายในการมุ่งสู่ Net Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2049 ซึ่ง การลงนามในครั้งนี้จะนำไปสู่การจัดทำแผนและแนวทาง ที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ดังกล่าว ตามมาตรฐานสากล Science-based target เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไว้ให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ เรายังต้องศึกษาแนวทางในการดำเนินโครงการเพื่อเพิ่มการดูดกลับ หรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวอีกด้วย“ อติยา กล่าวทิ้งท้าย