OR กางแผน “ลงมือทำ” ลุยสู่อนาคต Net Zero

31 ม.ค. 2567 | 12:21 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2567 | 12:39 น.

OR กางแผน ปี 2567 ลุยต่อสู่เป้าหมาย OR2030 Goals ชูแนวคิดพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ ผ่านการ “ลงมือทำ” สู่อนาคตที่ยั่งยืน Carbon Neutrality ค.ศ .2030 และ Net Zero ค.ศ.2050

ด้วย SDG ฉบับ OR ตามกรอบแนวคิด ESG จนเป็นองค์กรต้นแบบในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างยั่งยืน จากการจัดอันดับทั้งในระดับสากลและระดับประเทศในปี 2566 พร้อมเผยเรื่องราวความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG ผ่านการลงมือทำ

“ความสำเร็จ” ผ่านการ “ลงมือทำ” สู่อนาคตที่ยั่งยืนในแบบฉบับของ OR (SDG ฉบับ OR) ตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ.2050

  • “ลงมือทำ” เพิ่มพื้นที่สีเขียว

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) กล่าวว่า สิ่งที่ OR ทำขณะนี้คือ การเดินหน้าสู่ OR2030 Goals เพื่อช่วยเหลือและสร้างผลกระทบเชิงบวกไปถึงสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม กระจายรายได้ให้กับประชาชน และเกษตรกร

“เรามีแนวคิดที่จะไปพัฒนาต้นนํ้าซึ่งเริ่มแล้วทีมงานคาเฟ่ อเมซอน พยายามเข้าไปหาแหล่งในการเพาะปลูกที่ อ.แม่แจ่ม ที่เชียงใหม่ บนยอดดอยอินทนนท์ OR ไปช่วยเกษตรกรเพื่อเพิ่มโอกาสเขา ให้องค์ความรู้ ลดป่าเสื่อมโทรม สอนเขาปลูกกาแฟอย่างถูกวิธีและรับซื้อ”

OR พยายามที่จะไดเวอร์ซิฟายด์ตัวเองให้เข้มแข็ง สร้างอีโคซิสเต็ม และหาพาร์ทเนอร์ชิฟ แล้วดึงคนเข้าอีโคซิสเต็ม ซึ่งขณะนี้เริ่มทำแล้ว ทั้งที่จังหวัดน่าน และ อ.แม่แจ่ม เชียงใหม่ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว พร้อมสร้างงานสร้างอาชีพให้เกษตรกร

OR กางแผน “ลงมือทำ” ลุยสู่อนาคต Net Zero

นอกจากนี้ ยังพัฒนาพื้นที่ที่ลำปาง ประมาณ 600ไร่ ของ OR ที่จะสร้างจะเป็นพื้นที่สีเขียว แลนมาร์คที่จะพัฒนาเมืองลำปางที่เป็นเมืองรองให้เป็นเมืองหลัก พัฒนาพื้นดินเพื่อปลูกกาแฟ สร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้การปลูกกาแฟ แห่งเดียวในประเทศไทย รวมทั้งเเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และวิจัยพันธุ์กาแฟ โดยนักวิจัยของ OR ภายใน 1-2 ปี และเป็นแหล่งนัดพบของนักท่องเที่ยวในอีก 5 ปี

OR ยังร่วมโครงการปลูกป่าลดก๊าซเรือนกระจก ภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (T-VER) ซึ่งเป็นการร่วมมือกับกรมป่าไม้ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและพะเยารวมพื้นที่ 1,900 ไร่ ปี 2566 ปลูกและบำรุงรักษาป่ารวมพื้นที่ 1,500 ไร่ แบ่งออกเป็น 6 แปลง โดยมีพื้นที่ 280 ไร่อยู่ในขั้นตอนการยื่นขอขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อขอการรับรองคาร์บอนเครดิต เพื่อใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร

“การสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ดำเนินการดูแลและรักษาป่าชุมชน รวมพื้นที่ 8,100 ไร่ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย อำนาจเจริญ และยโสธร”

  • พลังงานหมุนเวียนสร้างความมั่นคง

OR ให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน และส่งเสริมให้ธุรกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ด้วยการลดการใช้พลังงาน เพื่อนำสู่การกระตุ้นให้เกิดการลดการสูญเสียทรัพยากรภายในองค์กร ดำเนินการติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตพลังงานใช้ในสถานประกอบการเพื่อทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้าหลัก และยังมีการจัดซื้อพลังงานหมุนเวียน ในรูปแบบเอกสารสิทธิ์ในการยืนยันการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC)

ไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 OR มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 8.563 MWp ขณะที่การจัดซื้อพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบเอกสารสิทธิ์ในการยืนยันการใช้พลังงานหมุนเวียน (REC) สามารถซื้อพลังงานหมุนเวียนสำหรับปี 2566 ได้ 2,875 MWh

  • เสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่า OR ให้ความสำคัญเพื่อลดปริมาณขยะ ผ่านกระบวนการ Recycle และ Upcycling ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับขยะ ผ่านโครงการ Waste to Value เป็นการนำขยะที่เหลือใช้มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น Cafe Amazon นำแก้วและขวดพลาสติก PET จำนวน 2.83 ตัน มาเปลี่ยนเป็นเส้นใยเพื่อผลิตเป็นเสื้อพนักงาน ผ้ากันเปื้อน และโซฟา รวมถึงยังนำถุงฟอยล์บรรจุเมล็ดกาแฟที่ใช้แล้ว มาผสมกับรีไซเคิลพลาสติก ผลิตเป็นแผ่นผนังตกแต่งภายในร้าน Cafe Amazon

รวมถึงการนำเยื่อหุ้มกาแฟที่เหลือจากกระบวนการคั่วเมล็ดกาแฟ มาผสมกับวัสดุอื่น ๆ เพื่อใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ภายในร้าน Cafe Amazon เช่น โต๊ะ, เก้าอี้, เคาน์เตอร์ชงกาแฟ, ชั้นวางของ และโคมไฟ และยังร่วมกับ ปตท. และโตโยต้า ทูโช นำถังก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่หมดสภาพกลับมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ทำให้สามารถช่วยลดซากเหล็กที่ต้องทำลายทิ้งเปล่าประโยชน์ประมาณ 1,370 ตันต่อปี และยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ประมาณ 9,000 ตันต่อปี

  • สร้างเครือข่าย Ecosystem

นายดิศทัต กล่าวว่า OR ได้ผสมผสาน SDG สร้างเป็น Ecosystem จนกลายเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์คนตัวเล็ก นำสินค้าจากชุมชนและสินค้าเกษตรวางขายในสถานีบริการของ OR ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบสู่รีเทล ที่สนองตอบไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ ที่มีทั้งสถานีเติมนํ้ามัน สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และยังร้านค้าพาร์ทเนอร์มากมาย โดยมี สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น วิภาวดี 62 เป็นโครงการต้นแบบ

“OR ระดมความคิดของบรรดาผู้บริหาร เพื่อหาแนวทางในการทำให้ OR เดินหน้าได้อย่างยั่งยืนและมั่งคั่ง และยังให้โอกาสกับสังคม ชุมชน รวมถึงสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งคิดหาวิธีการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ เพื่อให้สามารถเดินบนพื้นฐานของ Value Chain เพื่อทำให้ Value Chain ของ OR ยาวและยั่งยืน”

สำหรับเป้าหมายการขยายสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ต่อไปนั้นจะมีรูปแบบที่แตกต่างออกไป โดย OR ตั้งงบลงทุนระยะ 5 ปี (ปี 2567-2571) อยู่ที่ 67,396.3 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งจะใช้ในการขยายสถานีบริการ PTT Station เพิ่มขึ้นอีก 100 แห่ง ในปี 2567 จากปัจจุบันที่มีอยู่ 2,203 แห่ง สถานี EV Station PluZ 606 แห่ง และร้านคาเฟ่ อเมซอน 4,045 แห่ง