ระวัง สูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” เสี่ยงเกิด “ภาวะซึมเศร้า” สูงถึง 2.39 เท่า

25 พ.ย. 2566 | 09:17 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ย. 2566 | 11:11 น.

กรมควบคุมโรค เตือน สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้าสูง ทั้งยังมีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะวิตกกังวล รวมถึงยิ่งทวีความรุนแรงของปัญหาสุขภาพจิตที่มีอยู่ แนะประชาชนควรเลิกสูบ

ในกลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่ “บุหรี่ไฟฟ้า” ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากคิดว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ทั่วไป แต่แท้จริงแล้ว สารที่ประกอบอยู่ในบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่แบบมวนล้วนมีสารนิโคติน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ผู้สูบเกิดการเสพติดเหมือนๆ กัน อีกทั้งยังก่อให้เกิดโรคและปัญหาสุขภาพต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคทางเดินหายใจและปอด อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคถุงลมโป่งพอง วัณโรคปอด และมะเร็งปอด 

ไม่เฉพาะตัวผู้สูบเองเท่านั้น ที่จะได้รับผลกระทบ แต่ผู้อื่นที่อยู่ในอาณาบริเวณรอบข้างก็สามารถได้รับสารอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ หากเด็กได้สูดดมหรือรับสารจากบุหรี่ไฟฟ้าก็อาจก่อให้เกิดอาการชัก อาเจียน และหมดสติได้ รวมถึงยังเป็นตัวการที่ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อระบบประสาทและสมอง ทั้งยังทำให้การทำงานของหน่วยความจำมีประสิทธิภาพลดลงอีกด้วย

อันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้าในเด็ก

บุหรี่ไฟฟ้า ต้นตอปัญหาสุขภาพจิต เพิ่มโอกาสเกิดโรคซึมเศร้าสูง  2.39 เท่า
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” เป็นสินค้าทำลายสุขภาพ มีสารพิษ หากเสพติดก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหลายส่วน ทั้งต่อระบบทางเดินหายใจและปอด ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงระบบประสาทและสมอง

นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีผลต่อสุขภาพจิต โดยพบว่า ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้ามากถึง 2.10 เท่า และการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่บ่อยครั้ง ยังมีโอกาสที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าสูงถึง 2.39 เท่า และจะมีภาวะวิตกกังวล หงุดหงิดง่าย รวมถึงปัญหาสุขภาพจิตที่มีอยู่จะรุนแรงยิ่งขึ้น

นายแพทย์ธงชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรคห่วงใยประชาชนที่คิดจะเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงผู้ที่สูบอยู่ในปัจจุบัน ควรเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพ ทั้งต่อตัวผู้สูบและคนใกล้ชิด ทั้งนี้ สามารถขอรับบริการช่วยเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบได้ 2 ช่องทาง คือ 

  1. สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน
  2. ขอรับคำปรึกษาที่ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ 

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะรับบริการช่วยลด ละ เลิก การเสพสารเสพติดจากบุหรี่ไฟฟ้า สามารถโทรมาได้ที่เบอร์ 1600 ฟรี และหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค โทร 0-2590-3850