ภัยร้ายจากบุหรี่เสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าจริงหรือไม่

30 พ.ค. 2566 | 12:07 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2566 | 12:07 น.

ภัยร้ายจากบุหรี่เสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าจริงหรือไม่ อ่านที่นี่มีคำตอบ สบยช.เตือนทุกชนิดทำลายสุขภาพทั้งผู้สูบ คนรอบข้าง ชี้เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังในหลายระบบของร่างกาย

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เปิดเผยว่า บุหรี่ทุกชนิดเป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูบรวมไปถึงคนรอบข้าง เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเรื้อรังในหลายระบบของร่างกาย เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โรคหัวใจและหลอดเลือด เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น 

สบยช. จึงได้ดำเนินการจัดโครงการสัปดาห์รณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลกประจำปี 2566 ขึ้น เพื่อร่วมรณรงค์ ส่งเสริม กระตุ้นให้ผู้เข้ารับบริการ ประชาชนทั่วไป ตลอดจนบุคลากรของ สบยช. ตระหนักถึงโทษพิษภัยของบุหรี่ และมุ่งหวังให้เกิดการ ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ทุกชนิด โดยมีกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโทษพิษภัยของบุหรี่โดยทีมสหวิชาชีพ คัดกรองและให้คำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ 

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยในปี 2566  ประเทศไทย ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ไว้ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย 

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการเผยแพร่ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การสูบบุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยเลิกบุหรี่ได้ หรือ บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน 

แต่ในความเป็นจริงแล้วทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวน  มีสารนิโคตินเหมือนกัน ซึ่งนิโคตินเป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติด และทำให้เกิดโรคสมองติดยาแบบเดียวกับที่เกิดในเฮโรอีนและยาบ้าได้ 
 

นอกจากสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารปรุงแต่งกลิ่นรส ซึ่งทำให้ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสพติดได้เช่นกัน การสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงไม่ได้ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่มวนได้ แต่ผู้สูบจะเปลี่ยนจากการติดบุหรี่มวนมาติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน และการสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่ได้อันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่มวน เพราะการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีผลข้างเคียงได้เร็ว 

รวมถึงส่งผลต่อร่างกายทั้งหลอดเลือด สมอง หัวใจ ระบบการหายใจ เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ จากการทดลองในหนู ที่หายใจเอาไอน้ำบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ปอด พบว่า เยื่อบุหลอดลมและถุงลมปอดเกิดการอักเสบและเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับปอดของหนูที่ได้รับควันบุหรี่ธรรมดา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระยะแรกที่พบในโรคถุงลมโป่งพอง