เตือน!เด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงอาการชัก หลังนิโคตินเข้าร่างกาย 30 นาที

18 ก.ค. 2566 | 17:03 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2566 | 17:03 น.

เตือน!เด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงอาการชัก หลังนิโคตินเข้าร่างกาย 30 นาที หมอเผยกรณีหน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐนิวเซาท์เวลล์ ออสเตรเลีย พบเด็กวัยรุ่น 6 คน ถูกนำส่งเข้าโรงพยาบาล เนื่องจากมีอาการชัก อาเจียน และหมดสติ

ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ กุมารแพทย์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มีรายงานจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐนิวเซาท์เวลล์ ออสเตรเลีย พบเด็กวัยรุ่น 6 คน ถูกนำส่งเข้าโรงพยาบาล เนื่องจากมีอาการชัก อาเจียน และหมดสติ เพราะสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ซื้อจากสื่อออนไลน์ ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากพิษของสารเสพติดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเป็นสารพิษทำลายสมอง และยังตรวจพบสารเคมีอันตรายอื่น ๆ ในบุหรี่ไฟฟ้า เช่น น้ำยากำจัดวัชพืช และน้ำยาล้างเล็บ

ทั้งนี้ นิโคตินเป็นสารเสพติดอันตราย หากได้รับในปริมาณมากจะก่อให้เกิดอาการชักได้ ซึ่งพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่จะพบในเด็กมากกว่าและอาการมักจะรุนแรงกว่า เพราะเด็กมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าผู้ใหญ่ และสมองยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ 

การได้รับสารนิโคตินในปริมาณไม่มาก ทำให้เกิดอาการชัก หมดสติได้ โดยอาการที่เกิดจากพิษของนิโคตินเกินขนาด ได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว อาเจียน สับสน จนถึงชัก และระบบหายใจล้มเหลว ซึ่งอาการมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากได้รับสารนิโคติน ส่วนใหญ่ 62% เกิดภายในเวลา 30 นาที โดยเป็นระยะที่นิโคตินเข้าสู่ร่างกายในระดับที่สูงสุด

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสถานการณ์น่าเป็นห่วงเพราะบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่หรือที่วัยรุ่นเรียกว่า พอดมักจะมีปริมาณของนิโคตินสูงในระดับอันตราย เช่น บุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่งที่สูบได้ 5,000 ครั้ง มีนิโคติน 5.5% โดยเท่ากับความเข้มข้นของนิโคตินสูงถึง 55 มก.ต่อซีซี 

ซึ่งเป็นระดับอันตรายทำให้เด็กเล็กเสียชีวิตได้ ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าออกแบบรูปลักษณ์ในรูปของเล่น หรือตัวการ์ตูน เพื่อดึงดูดเด็กและเยาวชน ทำให้เด็กส่วนใหญ่ รวมทั้งผู้ปกครองไม่ทราบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่อันตราย และมีสารเสพติดที่เป็นพิษอย่างนิโคติน จึงต้องช่วยกันเฝ้าระวังและเร่งสร้างความตระหนักให้กับสังคม

รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ในต่างประเทศมีการเก็บข้อมูลผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ เช่น องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา เก็บรวบรวมข้อมูลผู้ที่มีอาการชักจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ระหว่างปี 2562-2564 มีผู้ป่วยที่ชักจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า 250 ราย เกือบ 70% เป็นเด็กและวัยรุ่น 

ต่อมามีการศึกษายืนยันจากนักวิจัยที่ทบทวนรายงานผู้ป่วยในรายที่มีข้อมูลทางการแพทย์สมบูรณ์ สรุปว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เกิดอาการชักได้จริง เหตุเพราะพิษจากสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อเข้าสู่สมองจะทำให้เซลล์ประสาทมีความอ่อนไหวง่ายขึ้น เพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดอาการชักง่ายขึ้น ซึ่งการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ จะเป็นการเฝ้าระวังและจะทำให้ทราบโรคหรืออาการผิดปกติที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งอาจจะเหมือนหรือต่างจากอาการที่พบจากการสูบบุหรี่ธรรมดา

"กลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ามักจะอ้างว่า นิโคตินไม่ใช่สารอันตราย จึงต้องการจะย้ำว่า การกล่าวอ้างนี้เป็นข้อมูลที่บิดเบือน เพราะนิโคตินเป็นสารเสพติดรุนแรงเทียบเท่าเฮโรอีน ติดง่ายแต่เลิกยาก ซ้ำยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรง โดยเฉพาะกับเด็กและวัยรุ่น"

อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กและวัยรุ่นส่วนใหญ่ที่ไปลองสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่รู้จักว่านิโคตินคืออะไร และมีอันตรายอย่างไร จึงเป็นสิ่งเร่งด่วนที่ต้องให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องกับเด็กและวัยรุ่นรวมทั้ง พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูในโรงเรียน