"โรค NCDs" คืออะไร น่ากลัวแค่ไหน อาการยังไง เช็คที่นี่

15 ก.ค. 2566 | 15:00 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2566 | 15:01 น.

"โรค NCDs" คืออะไร น่ากลัวแค่ไหน อาการยังไง เช็คที่นี่มีคำตอบ ฐานเศรษฐกิจรวงรวมไว้ให้หมดแล้ว ทั้งตัวอย่างของโรค พฤติกรรมความเสี่ยง รวมถึงตัวการก่อเกิดโรค และวิธีลดความเสี่ยง

โรค NCDs คืออะไร น่ากลัวแค่ไหน อาการยังไง เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ เนื่องจากถือว่าเป็นภัยใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปไขคำตอบเรื่องของ "โรค NCDs" เพื่อให้คลายความสงสัย และได้มีการระมัดระวังตนเอง

โรค NCDs หรือ non-communicable diseases คือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือเรียกว่าไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต 

ซึ่งจะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ ค่อยๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วมักจะเกิดการเรื้อรังของโรคด้วย จึงอาจจัดว่าโรค NCDs เป็นกลุ่มโรคเรื้อรังได้
 
ตัวอย่างของโรค NCDs

  • โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคมะเร็งต่างๆ
  • โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง
  • โรคไตเรื้อรัง
  • โรคอ้วนลงพุง
  • โรคตับแข็ง
  • โรคสมองเสื่อม

พฤติกรรมเสี่ยง ตัวการก่อโรค NCDs

  • สาเหตุหลักสำคัญของกลุ่มโรค NCDs คือพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารรสจัด เช่น หวานจัด เค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย การนอนดึก การมีความเครียดสูง การรับประทานยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เป็นต้น ดังนั้นคนที่มีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเช่นนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค NCDs ได้มากกว่าคนอื่นๆ

ความรุนแรงของโรค NCDs

  • แม้โรค NCDs จะไม่ใช่โรคติดต่อ แต่จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมากลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย โดยมีคนไทยป่วยด้วยโรค NCDs ถึง 14 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 300,000 คนต่อปี และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี

ปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยงโรค NCDs

การป้องกันโรค NCDs ทำได้ง่ายๆ โดยเริ่มจากตนเอง นั่นก็คือการปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เน้นการรับประทานผักและผลไม้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสหวานจัด เค็มจัด อาหารมัน รวมถึงอาหารปิ้งย่าง
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที/ครั้ง สัปดาห์ละ 5 ครั้ง
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • งดสูบบุหรี่
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ผ่อนคลายความเครียด
  • ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ไม่ซื้อยารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  • หากมีอาการผิดปกติใดๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์

ข้อมูล : ศูนย์จัดการความรู้ผู้ป่วย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์