ไทยฮอต ติด Top5 ตลาดท่องเที่ยวผู้มีบุตรยาก “Fertility Tourism”

27 ส.ค. 2566 | 19:04 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ส.ค. 2566 | 19:04 น.

ชี้ทั่วโลกเผชิญภาวะมีบุตรยาก ปลุกดีมานด์ตลาดบริการ “Fertility และ Fertility Tourism” เติบโตก้าวกระโดด ขณะที่ไทยติด Top 5 ประเทศจุดหมายปลายทางที่ผู้ต้องการมีบุตรเลือกใช้บริการ เหตุค่าใช้จ่ายต่ำ เทคโนโลยีสูง เผยหลังโควิดซา “นักท่องเที่ยวจีน” แห่ใช้บริการเพิ่ม

จำนวนประชากรเกิดใหม่ที่ลดลงต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ ปัญหาภาวะมีบุตรยาก แม้สถานภาพของครอบครัวมีความพร้อมรอบด้านและต้องการมีทายาท ทำให้ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์มีหลากหลายประเภท อาทิ การทำเด็กหลอดแก้ว(IVF : In-vitro Fertilization)

การผสมเทียมโดยการฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก (IUI : Intrauterine Insemination), การทำซิฟต์ (ZIFT : Zygote Intrafallopian Transfer), การทำกิฟต์ (GIFT : Gamete Intrafallopian Transfer) การทำอิมซี่ (IMSI : Intracytoplasmic Morphologically Selectes Sperm Injection) เป็นต้น ส่งผลให้ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก และตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากคึกคักและเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในช่วงหลังโควิด-19

ไทยฮอต ติด Top5 ตลาดท่องเที่ยวผู้มีบุตรยาก “Fertility Tourism”

นพ.ประมุข วงศ์ธนะเกียรติ รองประธานกรรมการ บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ “GFC” หนึ่งในผู้ให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีปัญหามีบุตรยาก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมของภาวะมีบุตรยากหรือ Fertility กลายเป็นเทรนด์ เพราะแนวโน้มการแต่งงานช้าลง ทั้งชายและหญิงจากหลายๆปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่เพิ่มขึ้น ทำให้เข้าสู่ตลาดแรงงานช้าลง ประกอบกับค่านิยม “มีลูกเมื่อพร้อม” ทั้งด้านการเงินหรือหน้าที่การงาน ทำให้แต่งงานช้าและมีบุตรช้าลง

“ปัจจัยส่งเสริมตลาดภาวะผู้มีบุตรยากของไทยมาจาก 3 ประเด็นหลักคือ 1. เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์เป็นหนึ่งในเทรนด์การแพทย์ที่ภาครัฐผลักดันเพื่อให้ไทยกลายเป็นเมดิคัล ฮับ 2.การแพทย์ของไทยที่โดเด่นทั้งเรื่องของการบริการและฝีมือประกอบกับ ค่ารักษาเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศ เป้าหมายที่ให้การรักษาทั้งสหรัฐอเมริกา,  ออสเตรเลีย, สิงคโปร์หรือมาเลเซีย

ไทยมีค่ารักษาที่ต่ำกว่า คือราว 4,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อครั้งหรือราว 1.35 แสนบาท ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในเดสติเนชั่นของคนที่ต้องการมีบุตร 3. การขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่มีบุตรยากในประเทศไทยมีการเติบโตจากปี 2562 ซึ่งมีมูลค่าตลาดราว 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐและคาดว่าจะมีการเติบโตในปี 2570 อยู่ที่ 1,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 14.60% ต่อปี”

อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปดูภาพรวมอุตสาหกรรมภาวะผู้มีบุตรยาก ในระดับโลก จะพบว่าในปี 2562 มีมูลค่าตลาดทั้งหมด 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐและคาดว่าในปี 2570 จะขึ้นไปอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 3% โดยเฉพาะในกรณีของ IVF ที่เติบโตไม่ต่ำกว่า 3.62% ขณะที่การขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากทั่วโลกหรือ Fertility Tourism ในปี 2562 มีมูลค่าราว 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าประมาณ 3.36 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2570 เติบโต 14.20% ต่อปี โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีสัดส่วนมูลค่าตลาดบริการรักษาด้วยวิธี IVF มากที่สุดถึง 49% หรือมีมูลค่าประมาณ 5,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2570 และประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของ Fertility Tourism ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

“สังเกตว่าหลังจากมีการปลดล็อคโควิด ประเทศหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมากต่ออุตสาหกรรมคือประเทศจีน ซึ่งหลังจากมีการผ่อนปรนนโยบายด้านการเดินทาง ทำให้มีชาวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยและมาใช้บริการ Fertility มากขึ้น หลังจากในปี 2564 ประเทศจีนส่งเสริมนโยบายบุตรคนที่ 3 ทำให้ตลาดรักษาภาวะมีบุตรยากในจีนเติบโตอย่างมาก

แต่แน่นอนว่าไม่เพียงพอและจะต้องหาที่ในการรักษา หนึ่งในตัวเลือกคือประเทศไทย ดังนั้นจะเห็นว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมและ GFC ยังมีโอกาสอีกมาก ทำให้ในปีนี้ บริษัทมีโครงการใหญ่ คือการลงทุนในคลินิกสาขาสุวรรณภูมิ พระราม 9 และสาขาอุบลราชธานี เพื่อขยายกิจการให้กับกลุ่มคนไข้ทั่วประเทศ”

ไทยฮอต ติด Top5 ตลาดท่องเที่ยวผู้มีบุตรยาก “Fertility Tourism”

ด้านรศ.นพ. สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์ หัวหน้าศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก เมดพาร์ค ไอวีเอฟ เปิดเผยว่า ปัญหาการมีบุตรยากเกิดขึ้นอยู่แล้วในคู่สามีภรรยาที่ต้องการมีลูกไม่ใช่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งตัวเลขประมาณการณ์จาก WHO พบว่า 1 ใน 6 ของคู่สามีภรรยาที่แต่งงานกันจะมีปัญหามีบุตรยาก หรือเฉลี่ย 15-20%

หนึ่งสาเหตุของการมีบุตรยากมากขึ้นโดยธรรมชาติคืออายุของผู้หญิงซึ่งจะมีความสามารถในการเจริญพันธุ์หรือโอกาสตั้งครรภ์โดยธรรมชาติอยู่ที่อายุ 20-30 ปีหลังจากนั้นจะลดลงเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้นแต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมีแนวโน้มที่ผู้หญิงจะแต่งงานช้าลง

ซึ่งส่วนใหญ่จะอายุเกิน 30 ปีไปแล้วเพราะฉะนั้นจะเห็นว่าความพร้อมในการมีบุตรกับความพร้อมของสภาพร่างกายหรือทางชีววิทยาสวนทางกัน เทคโนโลยีด้านการเจริญพันธุ์จึงกลายเป็นตัวช่วยสำคัญของผู้ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากในปัจจุบัน

รวมทั้งกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากคู่แต่งงานทั่วโลก ซึ่งโรงพยาบาลเมดพาร์ค มีความชำนาญการรักษาโรคยากซับซ้อนจึงก่อตั้ง “ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก เมดพาร์ค ไอวีเอฟ” ขึ้นเพื่อให้บริการ  แก่ผู้ประสบภาวะมีบุตยากครอบคลุม ทั้งการให้คำปรึกษาสำหรับคู่แต่งงาน ตรวจคัดกรองภาวะมีบุตรยาก รักษาภาวะมีบุตรยาก ด้วยเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ ฝากไข่ ฝากสเปิร์ม แช่แข็งตัวอ่อน และดูแลอย่างต่อเนื่องเมื่อผู้ใช้บริการตั้งครรภ์ได้สำเร็จ ไปจนถึงการคลอดบุตรได้อย่างปลอดภัย และเติบโตเป็นเด็กที่มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง

“จุดเด่นของเราคือ เป็นศูนย์เปิดใหม่จึงนำอุปกรณ์รุ่นใหม่ และเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพระดับสากล เช่น การคัดเลือกตัวอ่อนด้วยระบบเอไอชื่อว่า ไอด้าสกอร์ (iDAScore) ซึ่งเป็นการให้คะแนนและติดตามพัฒนาการของตัวอ่อน การติดตั้งชิป (RFID Tags) เพื่อป้องกันความผิดพลาด

เช่น การสลับไข่กับสเปิร์มของคู่อื่น การสลับตัวอ่อนคุณภาพดีกับตัวอ่อนผิดปกติ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม ตรวจโครโมโซมเพื่อหาความผิดปกติของตัวอ่อนอย่างละเอียด ด้วยเครื่อง Next-generation sequencing (NGS) ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ได้สูงถึง 60 - 70%

เมื่อผู้เข้ารับบริการสามารถตั้งครรภ์ได้สำเร็จ เราจะดูแลว่าที่คุณแม่ร่วมกับแพทย์แผนกต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง ได้แก่ สูตินรีแพทย์ กุมารแพทย์เฉพาะทางทารกแรกเกิดและปริกำเนิด กุมารแพทย์เฉพาะทางเวชบำบัดวิกฤต (NICU) กุมารแพทย์ และคลินิกนมแม่ เพื่อสนับสนุนให้ว่าที่คุณแม่และทารกน้อยมีสุขภาพดี สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานที่สุดเท่าที่ต้องการ”

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,917 วันที่ 27 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566