ปลื้มรัฐ-เอกชนขานรับนโยบายดันไทยเป็น Medical Hub หนุนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

05 มิ.ย. 2566 | 09:00 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2566 | 09:10 น.

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนขานรับนโยบายรัฐบาล ผลักดันไทยเป็น Medical Hub เดินหน้าต่อยอดอุตสาหกรรมการบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ รองรับท่องเที่ยว ต่อยอดแนวทางสำคัญขับเคลื่อนศักยภาพพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

วันที่ 5 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับภาคีเอกชน และ 10 เครือข่ายมหาวิทยาลัย พัฒนาพื้นที่เป้าหมายรอบเขื่อน กฟผ. 9 แห่งทั่วประเทศ ยกระดับธุรกิจ wellness รองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

ปลื้มรัฐ-เอกชนขานรับนโยบายดันไทยเป็น Medical Hub หนุนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยินดีที่ทุกหน่วยงานตระหนักถึงศักยภาพของประเทศ และดำเนินการพัฒนาทุกโอกาสตามแนวทางการทำงานของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ใช้จุดแข็งของประเทศ ต่อยอดและพัฒนาอุตสาหกรรมการบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness) รองรับการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติของไทย (Medical Hub)

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สมาคมการผังเมืองไทย กฎบัตรไทยและ 10 เครือข่ายมหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยพายัพ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี) ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจการแพทย์ การส่งเสริมสุขภาพ พลังงานสะอาด และการส่งเสริมการลงทุนในเขตนวัตกรรมและพื้นที่ของ กฟผ.

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ดำเนินการพัฒนา และยกระดับเขื่อน พื้นที่ชุมชนโดยรอบเขื่อน และแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขื่อนต่าง ๆ เพื่อต่อยอด และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งความร่วมมือนี้จะเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เขื่อน และชุมชนโดยรอบของ กฟผ. สู่พื้นที่เศรษฐกิจสุขภาพ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพัฒนาพลังงานสะอาด สนับสนุนนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงพัฒนาบริการ และผลิตภัณฑ์ชุมชน

ทั้งนี้ Global Wellness Institute (GWI) องค์กรที่มุ่งเน้นงานวิจัยและข้อมูลทางการศึกษาด้านสุขภาพเชิงป้องกันและอุตสาหกรรม Wellness ทั่วโลก คาดการณ์ว่ากลุ่มธุรกิจ Wellness จะขยายตัวจนถึงปี 2568 และจะเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 7 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

 “นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ทั้งในด้านการแพทย์ และการบริการสุขภาพ ซึ่งรัฐบาลก็ได้เร่งเดินหน้าพัฒนาและยกระดับประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายอนุชาฯ กล่าว

อนึ่ง เขื่อน กฟผ. นำร่อง 9 แห่ง  ได้แก่

- ภาคเหนือ  2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และเขื่อนภูมิพล จ.ตาก

- ภาคใต้ 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้ากระบี่ จ.กระบี่ และเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา และเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ

- ภาคตะวันตก 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี