ผวา!ไข้เลือดออกปี 66 พุ่งถึง 3 เท่า เพิ่มสัปดาห์ละกว่า 5,000 ราย

23 ส.ค. 2566 | 08:34 น.

ผวา!ไข้เลือดออกปี 66 พุ่งถึง 3 เท่า เพิ่มสัปดาห์ละกว่า 5,000 ราย กรมควบคุมโรคเผยพบผู้ป่วยแล้วรวม 65,552 ราย ชี้ยิ่งมีผู้ป่วยมากยิ่งเสียชีวิตมาก ระบุจังหวัดป่วยสูงที่สุดใน 4 สัปดาห์เชียงราย น่าน จันทบุรี ตราด และระยอง

"ไข้เลือดออก"ล่าสุดในไทยสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในทางพื้นที่

จากการตรวจสอบข้อมูลของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า ข้อมูลของกรมควบคุมโรครายงานว่าตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน (16 สิงหาคม 2566) พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วรวม 65,552 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 99.05 ต่อประชากรแสนคน เพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 5,000 ราย ยิ่งมีผู้ป่วยมากก็ยิ่งมีผู้เสียชีวิตมาก 

ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้ว 58 ราย จำนวนผู้ป่วยปี 2566 มากกว่าปี 2565  ช่วงเวลาเดียวกันถึง 3 เท่า ซึ่งเป็นวงจรของการเกิดโรคที่มักจะระบาดมากขึ้นในปีถัดจากปีที่ระบาดน้อย เนื่องจากภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติของประชากรโดยรวมลดลง หรือมีลักษณะการระบาดปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี โดยพบผู้ป่วยได้ทุกกลุ่มอายุและอาชีพ จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงที่สุดใน 4 สัปดาห์ล่าสุด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่าน จันทบุรี ตราด และระยอง 

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ช่วงนี้การระบาดของโรคไข้เลือดออกในบางพื้นที่มีสถานการณ์ลดลงซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี แต่บางพื้นที่ก็ยังคงมีการระบาด ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และเปิดประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ (EOC) ร่วมกับเครือข่ายส่วนกลางและภูมิภาคทุกสัปดาห์ 

โดยย้ำให้ดำเนินการกำจัดลูกน้ำยุงลายให้ครอบคลุมในพื้นที่ 7 ร. ได้แก่ 

  • โรงเรือน (บ้าน/อาคาร) 
  • โรงเรียน/สถานศึกษา 
  • โรงพยาบาล 
  • โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์) 
  • โรงแรม/รีสอร์ท 
  • โรงงาน 
  • ส่วนราชการ/องค์กรเอกชน

ไข้เลือดออกปี 66 พุ่งถึง 3 เท่า

อย่างไรก็ดี โรคไข้เลือดออกสามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัด ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนกางมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด ทายากันยุงหรือจุดยาไล่ยุง รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้ยุงลายมาวางไข่ การกำจัดไข่หรือลูกน้ำในภาชนะเพื่อตัดวงจรไม่ให้ลูกน้ำกลายเป็นยุงตัวเต็มวัย เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี หากถูกยุงกัดแล้วมีอาการป่วยไข้ ต้องสังเกตอาการตนเองให้ดี เพราะช่วงนี้นอกจากมีไข้เลือดออกระบาดแล้วก็ยังมีไข้หวัดใหญ่ระบาดอีกด้วย ซึ่งอาจป่วยร่วมกันได้ทั้งสองโรคอาการเด่นชัดของไข้เลือดออกที่แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ในระยะต้นๆ คือ ไข้เลือดออกจะมีไข้สูง  อย่างรวดเร็วเฉียบพลัน ไข้ลดช้า ไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคซึ่งปัจจุบันมีชุดตรวจไข้เลือดออกเด็งกี่ (NS1) ทำให้รู้ผลเร็วและรักษาได้ทันท่วงที 
 

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้หลายพื้นที่มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีฝนตก ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการระบาดของโรคได้ กรมควบคุมโรค จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค ได้แก่ 

เก็บบ้าน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก ,เก็บภาชนะกักเก็บน้ำ ให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ และเก็บขยะภายในบริเวณบ้านและโรงเรียน ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จะป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ 3 โรคคือโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัด โรงเรียน ชุมชน ที่พบลูกน้ำยุงลายได้มาก และสถานที่ที่พบผู้ป่วยไข้เลือดออก

"หากมีอาการไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง กระหายน้ำ หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด มีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือรับประทานยาหรือเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลด หรือลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ควรรีบไปพบแพทย์ ซึ่งโรคไข้เลือดออกหากได้รับการรักษาล่าช้า จะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต"