เกณฑ์ใหม่เบี้ยยังชีพ“ผู้สูงอายุ”กับเสียงสะท้อนภาคประชาชน

17 ส.ค. 2566 | 13:59 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2566 | 14:07 น.

“เกณฑ์ใหม่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ฝ่าด่านพิสูจน์ความจน ภาคประชาชนสะท้อนการต้องพิสูจน์ความจนเพื่อรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะเบี้ยผู้สูงอายุเป็นเรื่องสวัสดิการ

เป็นเรื่องที่สร้างความแตกตื่นในสังคมและสะท้อนว่า ข้อเรียกร้องของภาคประชาชนในช่วงที่ผ่านมาสูญเปล่าหรือไม่ หลังรัฐบาลรักษาการมีแนวทางในการลดปรับลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ  โดยราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2566 ออกประกาศหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่ของกระทรวงมหาดไทย

ที่มีสาระสำคัญ ต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือ มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ เป็นการยกเลิกการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปแบบถ้วนหน้า ที่ประเทศไทยดำเนินการมากว่า 14 ปี ตั้งแต่ปี 2552 และอาจกลับไปสู่ระบบสงเคราะห์ ที่ทำให้ระบบสวัสดิการในประเทศไทยถดถอยไปกว่า 30 ปี   

 

ป้ากุ้ง อรุณี ศรีโต ตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า การต้องพิสูจน์ความจนเพื่อรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะเบี้ยผู้สูงอายุมันเป็นเรื่องสวัสดิการ  ซึ่งสวัสดิการมันก็ต้องถ้วนหน้า นอกจากว่าคนที่เขามั่งมีศรีสุขเขาไม่เอาเขาก็แจ้งความจำนงว่าไม่เอา ไม่ใช่ว่ารัฐจะมาทำให้เป็นเหมือนบัตรคนจนที่ต้องมีการพิสูจน์ความจนก่อน  เรื่องนี้ที่ผ่านมาประชาชนไม่ได้รับทราบข้อมูล ไม่มีการสอบถามความเห็นจากประชาชนในวงกว้างก่อน  

“เรามองว่าเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มันเป็นเรื่องสิทธิ์ของคนไทยทุกคน เรียกภาษาเท่ๆ หน่อยเขาเรียกว่าบำนาญภาคประชาชน ไม่ใช่ว่าจะต้องมาเลือกว่าจนเท่าไร จะต้องมีรายได้ไม่เกินเท่าไร อย่างนี้มันเป็นเรื่องไม่ถูกต้องและไม่เห็นด้วย ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาแต่ละพรรคการเมือง ต่างก็หาเสียงว่าจะมีการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือ ผลักดันมีบำนาญประชาชน   

จึงหวังว่ารัฐบาลใหม่จะทบทวนเรื่องนี้ ถ้าอย่างนั้นข้าราชการก็ไม่ต้องเอาบำนาญเหมือนกัน และต้องมีการไปสำรวจข้าราชการว่าคนไหนจนหรือไม่จน ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับรัฐกำลังเลือกปฏิบัติเพราะหากเป็นประชาชนหรือชาวบ้านก็บอกว่าจนแล้วค่อยเอาไป แต่บำนาญข้าราชการกลายเป็นสิทธิ์ถ้วนหน้า ไม่ว่าจะรวยเป็น 100-200 ล้านก็ได้บำนาญเหมือนกัน” ป้ากุ้งระบุ 

ทังนี้การที่ภาครัฐอ้างว่าผู้สูงอายุที่มีสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพก่อนระเบียบใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2566 ยังใช้เกณฑ์เดิมในการพิจารณาและได้รับเงินตามเดิมนั้น  ป้ากุ้ง เห็นว่า ยิ่งเป็นการแบ่งแยกคน  เพราะถ้าเป็นสิทธิ์ของประชาชน จะมาว่าแบ่งว่าคนเก่ายังได้ตามเดิม ยังไม่แตะ แต่คนใหม่กลับมีการเลือกว่าจนหรือไม่จน เจตจำนงมันก็ไม่ถูกต้องแล้ว ถ้าชาวบ้านรู้ต้องโมโหลมออกหูแน่นอน โดยส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ และต้องทำงานเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ต่อไปในรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะมีขึ้น  

ขณะที่ อรนุช เลิศกุลดิลก ตัวแทนเครือข่ายผู้สูงอายุ for Oldy  แสดงความเห็นว่า เราในฐานะคนที่ใกล้เกษียณ ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบในอนาคตก็คงต้องออกไปแสดงตัว เพราะคิดว่าเรื่องนี้ต้องเป็นรัฐสวัสดิการ เป็นระบบถ้วนหน้า ไม่ใช่เป็นการสงเคราะห์ โดยวันที่ 17 ส.ค. กลุ่มเครือข่ายต่างๆ จะเดินทางไปแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่กระทรวงการคลัง  

ทั้งนี้เงิน 600 บาทนั้น มีความหมายต่อผู้สูงอายุมาก หลายคนพอรู้ข่าวที่เกิดขึ้นก็รู้สึกเศร้า และเป็นการทำลายขวัญและกำลังใจของผู้สูงอายุ  การที่ภาครัฐอ้างว่า ยังจ่ายเงินให้คนเดิมที่เคยได้รับอยู่และจะไม่ได้รับผลกระทบนั้น คิดว่าเป็นเรื่องการเมือง เขาไม่กล้าประกาศล้มทั้งหมด

เพราะถ้าล้มทั้งหมดจะมีผู้สูงอายุถึง 11 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบ เขาจึงเอาทีละขยัก เราคิดว่าถ้าปล่อยให้เขาทำ เขาก็จะทำไปเรื่อยๆ  และกลายเป็นระบบสงเคราะห์ทั่วประเทศ เรื่องนี้จึงเป็นมาตรการมากกว่า เพราะทุกครั้งเขาประกาศออกมาก็จะมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น  

“ครั้งนี้เขาอาจจะคิดว่ากลุ่มที่ได้แล้วอาจจะคิดว่าตัวเองพอแล้ว แต่เราเห็นว่าผู้สูงอายุยังลำบากอยู่มาก จึงคิดว่าจะหยุดแค่นี้ไม่ได้ ต้องร่วมกันผลักดันว่าอยากจะให้จำนวนมากกว่านี้เสียด้วยซ้ำ เราอยากให้อยู่ที่เส้นความยากจน ซึ่งอาจจะเป็นจำนวนประมาณ 2,000-3,000 บาท จะได้บอกกับสังคมว่าไม่มีคนยากจนแล้ว เพราะมันเลยเส้นความยากจนไปหมดแล้ว 

แต่ทุกวันนี้มันต่ำกว่าเส้นความยากจน  และไม่อยากให้เป็นการพิสูจน์ความจน เพราะมันเป็นการด้อยค่าและสิ้นเปลืองงบประมาณในการดำเนินการด้วย และมันไม่เคยยุติธรรมสำหรับประเทศไทย คิดว่าจำนวนผู้สูงอายุ 6 ล้านคน ที่ได้บัตรคนจน มันก็เป็นการพิสูจน์ว่าเขาลำบาก แต่บัตรคนจนมันก็ไม่เป็นจริงทั้งหมด เพราะคนที่ควรจะได้ก็ไม่ได้ คนที่ไม่ควรจะได้กลับได้ มันจึงกลายเป็นหลายมาตรฐาน และไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่เข้าไม่ถึง 

ภาครัฐจึงน่าจะไปคิดเรื่องอื่นและลดค่าใช้จ่ายอย่างอื่นแทน ดังนั้นเพื่อแก้ข้อกังขาทั้งหมดจึงต้องเป็นระบบถ้วนหน้า ทุกคนก็จะได้สบายใจ และอยู่อย่างมีสันติสุข ถ้าทำให้คนโน้นได้ แต่คนนี้ไม่ได้สังคมมันก็เกิดปัญหา” อรนุช ระบุ  

ด้านนักวิชาการด้านหลักประกันสุขภาพและสวัสดิการของประชาชนอย่าง นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข กล่าวว่า เข้าใจว่าการออกหลักเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุฉบับใหม่ เป็นผลต่อเนื่องจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีการตีความเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ในระยะสั้นคิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะถ้าดูในบทเฉพาะกาลที่ระบุไว้  2 ข้อ คือ 

1.ระบุว่าคนที่เคยได้รับเบี้ยผู้สูงอายุไม่ต้องถูกทวงเงินคืน

2.ตราบใดก็ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติยังไม่กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพ ก็ให้ใช้คุณสมบัติเดิมไปพลางก่อน  

อย่างไรก็ตาม ยังยืนในหลักการว่าต้องเป็นระบบถ้วนหน้า  เพราะประเทศไทยต้องรับหลักการที่บอกว่า ผู้สูงอายุต้องมีรายได้เพียงพอกับการยังชีพ ดังนั้น ตราบใดที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติยังไม่ตัดสินใจ  ก็ต้องให้ผู้สูงทุกคนไปก่อน ดังนั้นระยะสั้นคิดว่าคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  
 

“ในระยะเปลี่ยนผ่านเชื่อว่าทุกคนยังมีสิทธิ์อยู่ คงยังไม่มีใครกล้าประกาศอะไรออกมาที่ทำให้เกิดปัญหาและอาจเกิดการชุมนุมประท้วงตามมา ซึ่งปัญหาเกิดจากเราไปให้ อปท. ล็อกแบบนี้ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เจอปัญหานี้ ผู้สูงอายุใช้สิทธิ์รับเบี้ยยังชีพข้ามเขตพื้นที่ไม่ได้ ส่วนเด็กเจอปัญหาในเรื่องศูนย์เด็กเล็กข้ามเขตไม่ได้ ดังนั้นอย่าเพิ่งไปกังวลมากเรื่องสิทธิ์ไม่ครบ แต่กังวลเรื่องการการใช้สิทธิ์ข้ามเขตนี้ก่อน” นพ.ถาวร ระบุ 

นพ.ถาวร กล่าวด้วยว่า กรณีที่หลายฝ่ายเกรงว่า จะมีผู้สูงอายุตกหล่นและเข้าไม่ถึงสิทธิ์นั้น หลักการ คือ ทุกคนต้องไปขึ้นทะเบียนยืนยันสิทธิ์ จึงจะสามารถได้เงิน เรื่องนี้โดยหลักการก็ถูกและไม่ได้ผิด เพียงแต่ต้องมีวิธีการที่เหมาะสมให้ผู้สูงอายุมาขึ้นทะเบียนด้วย เพราะบางคนอาจไม่สะดวกในการเดินทาง   

จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาว่า ระเบียบเป็นอุปสรรคในการทำให้คนเข้าถึงเรื่องนี้ได้หรือไม่ เพราะทำให้คนไม่ได้รับสิทธิ์ หรือ ตกหล่นจำนวนมาก  ดังนั้น จึงต้องมีกระบวนการมีวิธีการพิทักษ์สิทธิ์ที่เหมาะสม ถึงแม้ว่าโดยหลักการต้องมีการขึ้นทะเบียน แต่ก็ต้องทำให้ง่ายและสะดวก  

“อย่างไรก็ตาม ผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะให้คนไปสละสิทธิ์ เพราะมันสิทธิ์ของคุณแล้วคุณจะไปสละได้อย่างไร วิธีนี้มันไม่ใช่แนวคิดที่มันถูกต้อง สิทธิ์เป็นเรื่องที่ติดตัวคน แต่เขาก็มีสิทธิ์ที่จะบอกว่าเขาไม่อยากจะได้เงิน แต่มันไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่จะต้องไปรณรงค์ให้คนไม่ใช้สิทธิ์นี้

คำถามก็คือ ถ้าเรากำลังใช้หลักการของระบบถ้วนหน้า และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราก็ไม่ต้องมาพูดกันเรื่องการพยายามไปกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ว่าอย่าไปใช้เลยคุณรวย คุณจน เพราะมันไม่ใช่ประเด็น ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันจึงจะเรียกว่าถ้วนหน้าเป็นธรรม  

แต่ว่าเรื่องใหญ่กว่านั้นคือ คนที่ควรจะต้องขึ้นทะเบียนกลับไม่ได้ขึ้น เพราะว่าเข้าไม่ถึงตรงนี้ต่างหากที่เป็นปัญหา ถ้าเรามั่นใจแล้วว่าเขาเข้าถึงสิทธิ์ได้แล้วทุกคน แต่เขาตัดสินใจไม่ใช้เอง อันนั้นค่อยว่ากันอีกที ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น” นพ.ถาวร กล่าว  

ส่วนการผลักดันบำนาญประชาชน จะเกิดขึ้นได้จริงในสังคมไทยหรือไม่นั้น นพ.ถาวร มีความเห็นว่า ทุกวันนี้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังแยกงานกันทำ เรื่องบำนาญกับเรื่องเงินออมมันต้องเชื่อมกันได้ รวมทั้งเรื่องเบี้ยยังชีพ เพราะมันก็คือ เงินที่คนออมแล้วเอาไว้ใช้ตอนอายุมาก 

ข้อเสนอคือว่า ถ้าทำบำนาญแห่งชาติต้องเอาเรื่องเบี้ยยังชีพ มาคิดรวมกับเรื่องบำนาญของแต่ละกองทุน และบริหารจัดการให้เป็นระบบฐานข้อมูลกลาง และมีหน่วยงานกลางในการกำกับดูแล ซึ่งอาจจะเป็นกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) หรือสำนักทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่มีความสามารถและมีศักยภาพในการดำเนินการได้อยู่แล้ว  

สำหรับประเด็นที่หลายภาคส่วนมองว่า การปรับเกณฑ์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการปรับลดรายจ่ายการใช้งบประมาณที่ซ้ำซ้อนของภาครัฐ และการที่บำนาญประชาชนไม่ขยับ เป็นเพราะเจ้าภาพของเรื่องนี้คือ ข้าราชการที่มีบำนาญที่ไม่เดือดร้อนอยู่แล้วนั้น นพ.ถาวร เห็นว่า คงมีส่วน

เพราะคนที่เขาไม่เดือดร้อนเขาก็ไม่ดิ้นรน แต่ตัวคนเคลื่อนประเด็นเหล่านี้จริงๆ มันไม่ใช่ข้าราชการทั้งหมด ถามว่าข้าราชการเป็นตัวเคลื่อนเรื่องนี้ได้หรือไม่ ก็เคลื่อนได้โดยเป็นการรวมกับภาคประชาชนขยับ ซึ่งเราทำเพียงแค่ทำให้เกิดความชอบธรรมในการเสนอแก้กฎหมาย  แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำฝ่ายการเมืองเห็นด้วย 

“ดังนั้นโดยพื้นฐานมันเป็นเรื่องของกฎหมาย คนที่จะทำเรื่องของกฎหมายก็คือ คนที่มีอำนาจในการออกกฎหมาย ก็คือ นักการเมือง ใครมาเป็นรัฐบาลที่จะต้องส่งเรื่องเข้าสภา อันดับแรกถ้าเขาตั้งใจจะทำเขาก็ทำได้ เช่น เขามีนโยบายมาว่าจะให้ 3,000-5,000 บาท

อะไรตามที่หาเสียงไว้มันก็จะขยับ ต้องบูรณาการหลายกระทรวงในการทำงานร่วมกัน และต้องแตะเรื่องกฎหมายบำนาญที่เป็นตัวปัญหาอยู่ตอนนี้ด้วย  ตลอดจนต้องทำระบบกลางขึ้นมาให้ได้  

ดังนั้นคีย์ขอเราคือ นักการเมืองต้องขยับ และอาศัยความร่วมมือเชิงวิชาการซึ่งคิดว่าพวกเรามีมากพอ  แต่มันยังไม่สุกงอม เพราะคนยังเห็นไม่ตรงกัน จึงต้องพยายามทำให้เกิดภาพที่ทุกคนเห็นตรงกันให้ได้ก่อน โดยต้องคุยในลักษณะที่เป็นการไปด้วยกัน และมองว่ามันถึงเวลาต้องทำแล้ว”นพ.ถาวร กล่าว   

จากนี้จึงต้องจับตากันว่า ในขณะที่ภาคประชาชนกำลังตื่นตัวกับประเด็นการสร้างรัฐสวัสดิการ โดยเฉพาะการผลักดัน “บำนาญประชาชน” ให้เป็นสิทธิถ้วนหน้าสำหรับผู้สูงอายุและคนไทยทุกคน

แต่การคลอดเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่ ของกระทรวงมหาดไทยและรัฐบาลรักษาการครั้งนี้  สุดท้ายจะกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ความฝันของประชาชนสะดุดหยุดลง และเป็นเผือกร้อนที่รัฐบาลใหม่จะต้องรับไปทบทวนหรือไม่