สรุปปมร้อน "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" ซัดกันนัว หลังมหาดไทยปรับเกณฑ์ใหม่

15 ส.ค. 2566 | 16:30 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2566 | 18:31 น.

เปิดดรามา เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หลัง "มหาดไทย" ประกาศระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ยึดเงื่อนไข "ความยากจน" เป็นเกณฑ์ชี้วัดสำคัญ  

นโยบายจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา หลังจากที่กระทรวงมหาดไทยประกาศปรับหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566 ใหม่โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2566 "ฐานเศรษฐกิจ" ขอลำดับเหตุการณ์สรุปไล่เรียงมาให้เข้ากันง่าย ๆ ดังนี้

การปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้นถูกพูดถึงมาแล้วก่อนหน้านี้ทั้งยังมีรายงานออกมาเป็นระยะ ๆ ว่า กระทรวงการคลัง มีแผนเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เตรียมเสนอรัฐบาลชุดใหม่โดยปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผูู้สูงอายุใหม่โดยจะตัดสิทธิผู้ที่มีรายได้สูง หรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เนื่องจากเห็นว่านโยบายการคลังนั้นควรเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีความเดือดร้อนมากที่สุดจึงต้องการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป  

กระทั่ง ในวันที่ 14 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานประกาศราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2566 จากก่อนหน้านี้จ่ายแบบถ้วนหน้าตามขั้นบันไดโดยผู้ที่มีอายุ 60 ขึ้นไปทุกคนจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ดังนี้

  • อายุ 60 – 69 ปี ได้ 600 บาทต่อเดือน
  • อายุ 70-79 ปี ได้ 700 บาทต่อเดือน
  • อายุ 80-89 ได้ 800 บาทต่อเดือน
  • อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้ 1,000 บาทต่อเดือน

สาระสำคัญของระเบียบหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566 ฉบับล่าสุดนี้ ในหมวด 1 ได้กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ในข้อ 6 (4) ระบุว่า "เป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด"

นั่นหมายความว่า เมื่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับล่าสุดนี้มีผลบังคับใช้ ผู้สูงอายุที่จะได้รับสวัสดิการดังกล่าว คือ ผู้สูงอายุที่เข้าหลักเกณฑ์ข้างต้น คือ ไม่มีรายได้ หรือ มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ในบทเฉพาะกาลได้ระบุว่า ผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป 

นำมาซึ่งการวิพากวิจารณ์จากบรรดานักการเมืองทั้งหลาย เริ่มจาก นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามว่า "หลักเกณฑ์นี้จะส่งผลกระทบกับสิทธิของประชาชนทุกคนที่จะทยอยอายุครบ 60 ปีในอนาคต

หากผู้สูงอายุที่แต่เดิมพอจะมีรายได้จุนเจือตนเองบ้างซึ่งตามหลักเกณฑ์ใหม่จะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพ แล้วหากในเวลาต่อมา รายได้ที่เคยดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ เกิดหดหายไป ผู้สูงอายุคนนั้นจะไปติดต่อขอรับเบี้ยยังชีพได้ที่ไหน อย่างไร

โดยปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 ล้านคน จากการใช้ฐานข้อมูลบัตรคนจน ในการพิจารณาจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะทำให้มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเพียงแค่ 5 ล้านคนเท่านั้น ผู้สูงอายุอีก 6 ล้านคนจะถูกรัฐลอยแพ เป็นต้น นายวิโรจน์ ตั้งข้อสงเกตว่า การปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว อาจเข้าข่ายขัด "พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ" หรือไม่ด้วย เพราะอาจเป็นการกีดกันประชาชนไม่ให้ได้รับสวัสดิการจากรัฐ

สรุปปมร้อน \"เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ\" ซัดกันนัว หลังมหาดไทยปรับเกณฑ์ใหม่

จากนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยก็ออกมาประกาศคัดค้านการปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวมองว่าเป็นการทำลายหลักการ "รัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า"ทั้งยังเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทย ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับการดูแลจากรัฐ

เช่นเดียวกับความเห็นของ "ทนายเกิดผล แก้วเกิด" ที่ออกมาระบุว่า "การตัดงบเบี้ยคนชรา และเพิ่มหลักเกณฑ์มากขึ้น เพราะงบประมาณมีไม่พอ น่าจะแก้ปัญหาไม่ถูกจุด บอกว่า การตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นหรือเกินความจำเป็นนั้น ควรไปตัดงบการซื้อเรือดำน้ำ งบเงินตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ อย่างเงินเดือน สส. และ สว.ถึงจะถูก 

ต่อมา นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาลได้ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า การปรับหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่ได้เป็นเพราะรัฐบาลมีปัญหาเรื่องการจัดหารายได้ แต่สืบเนื่องจากประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเพิ่มต่อเนื่อง งบประมาณจากเคยตั้งไว้ 50,000 ล้านต่อปี เพิ่มเป็น 80,000 ล้าน และแตะ 90,000 ล้านในปีงบประมาณ 2567

ดังนั้น หากลดการจ่ายเบี้ยแก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูง หรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เพื่อพุ่งเป้าช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่าก็จะการสร้างความยั่งยืนทางการคลังได้ในระยะยาว 

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกมาเคลียร์ปมดราม่าร้อนแรงนี้เช่นกันว่า การประกาศหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวนั้น มหาดไทยมีหน้าที่ออกระเบียบ ขณะที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงฯ นั้นรับผิดชอบออกหลักเกณฑ์ภายใต้บอร์ดผู้สูงอายุแห่งชาติ

พร้อมย้อนถามกลับว่า "ถ้าคนอย่างผมได้ด้วยเนี่ย คุณว่ายุติธรรมหรือไม่" เพราะตนก็เป็นข้าราชการเกษียณแล้ว มีบำนาญ คิดว่าตนควรได้ด้วยหรือไม่ ตนมีบำนาญ 60,000 กว่าบาท นั่นเป็นสิ่งที่จะพิจารณาว่า คนแบบใดไม่ควรได้ คนแบบใดควรได้"

ไม่อยากให้มองด้านเดียวว่า ไปตัดสิทธิ์ สรุปแล้วจะตัด ไม่ตัดอย่างไร อยู่ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ จะกำหนดเกณฑ์มา แต่ตนคิดว่าต้องตัด คนอย่างตนไม่ควรจะได้" 

ในขณะที่นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงฯ ได้โพสต์ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวโดยนำคำชี้แจงของ นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ พม.ยืนยันว่า การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุนั้นยังได้รับเหมือนเดิม