ดัน ‘สมุนไพรไทย’ แสนล้าน หนุนความมั่นคงทางการยา ลดพึ่งพาต่างชาติ

02 ก.ค. 2566 | 16:20 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2566 | 16:26 น.
527

อุตสาหกรรมสมุนไพรโตแรง คาดปี 2570 มูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านบาท รัฐ-เอกชน ผสานเสียงเดินหน้ายกระดับการแข่งขันระยะยาว พร้อมเสริมแกร่งความมั่นคงทางการยา ให้ประเทศไทย

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้คนไทยเลือกใช้สมุนไพรในการดูแลรักษาสุขภาพเพิ่มขึ้น จนทำให้สมุนไพรเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 มุ่งเน้นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรในระยะยาว

โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2570 ขนาดตลาดวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทยคาดการณ์ว่าน่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนล้านบาท ขณะที่ภาพรวมตลาด 3 ปีย้อนหลังพบว่า ปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 52,104.3 ล้านบาท ปี 2564 มูลค่าราว 48,108. ล้านบาทและปี 2563 มูลค่าราว 45,997.9 ล้านบาท

โดยปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการดำเนินงานภายใต้แนวคิดคนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจไทยมั่งคั่ง (Health for Wealth)โดยมีการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก สมุนไพร ภูมิปัญญาไทย และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นแรงขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดสมุนไพรไทยมีอัตราการเติบโตในอนาคตแบบก้าวกระโดด

ดัน ‘สมุนไพรไทย’ แสนล้าน หนุนความมั่นคงทางการยา ลดพึ่งพาต่างชาติ

ในส่วนการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนและอาเซียน+6 ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2560-2565 ตลาดสมุนไพรมีอัตราการขยายตัว 3.4% โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนของตลาดสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชนิดพร้อมดื่ม, กลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับใช้รักษา อาการไอ หวัด แพ้อากาศ และกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ปัจจุบันแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 -2570 มุ่งเน้นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรในระยะยาว โดยเน้นการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในการนำสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไปใช้ในการดูแลสุขภาพตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม จึงสนับสนุนส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรและยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งเชื่อมั่นได้ในความปลอดภัย และยังจะส่งผลให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเอง และเป็นการสร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศ

นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า สาเหตุที่ความมั่นคงทางการยาเป็นที่ต้องการของประเทศไทย เพราะไทยเป็นเมืองที่ขึ้นอยู่กับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ใช้ผลิตยา ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องมีคุณภาพการผลิตยาตามมาตรฐาน PIC/S (ข้อกำหนดอนุสัญญาระหว่างประเทศ ด้านการตรวจประเมินยาแห่งสหภาพยุโรป)

ดัน ‘สมุนไพรไทย’ แสนล้าน หนุนความมั่นคงทางการยา ลดพึ่งพาต่างชาติ

ดังนั้นนักธุรกิจจะต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาทในการสร้างโรงงานผลิต ขณะเดียวกันคนไทยมีต้องการยาเพิ่มมากขึ้นโดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตัวเลขจากศูนย์วิจัยกรุงศรีอยุธยาระบุว่าในปี 2564-2565 มีการเติบโตของธุรกิจยาราว 4.5-5%

“ที่ผ่านมาธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ถูกลืม แต่โควิดพาธุรกิจนี้กลับมาให้ทุกคนเห็นความสำคัญอีกครั้ง เห็นได้จากมีการลงทุนมากมายเกิดขึ้นในช่วงหลังโควิด ซึ่งยาที่ผลิตในไทยคุณภาพการรักษาไม่แพ้ยาที่อื่นและสามารถสร้างความมั่นคงทางการยาให้เกิดขึ้นได้ และเมื่อเกิดโรควิบัติขึ้น อย่างเช่นโควิดเราจะมีทางเลือกในการใช้ยา ดังนั้นเรื่องของการใช้ยาจึงเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจเพราะถ้าคนป่วยเศรษฐกิจก็ไม่เดิน”

ภญ.ปาริชาติ แคล้วปลอดทุกข์ ผู้เชี่ยวชาญ 10 ฝ่ายขาย องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ไทยยังพึ่งพาการนำเข้ายาเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้ง องค์การเภสัชกรรม คือจะลดค่าใช้จ่ายของมูลค่ายาในประเทศที่ประชาชนและรัฐบาลจะต้องเสียจากการนำเข้าอย่างไร

ดัน ‘สมุนไพรไทย’ แสนล้าน หนุนความมั่นคงทางการยา ลดพึ่งพาต่างชาติ

ทั้งนี้ในปัจจุบันหนึ่งในนโยบายของภาครัฐคือการบรรจุสมุนไพรไทยในแผนแม่บท ซึ่งองค์การเภสัชกรรมได้เข้ามาดูแลในเรื่องของสารสกัดสมุนไพรที่บริสุทธิให้มีคุณภาพสูงเพื่อใช้ในการผลิตยาสมุนไพรและกระจายยาเหล่านี้ไปยังโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตามประเด็นความมั่นคงทางการยาต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาประเทศไทยโฟกัสในมิติของการผลิตยาเพื่อการรักษาเป็นส่วนใหญ่ แต่มิติใหม่ของการดูแลสุขภาพตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขประกอบไปด้วย 4 มิติได้แก่ป้องกัน ส่งเสริม รักษาและฟื้นฟู เพราะฉะนั้นสิ่งที่องค์การเภสัชกรรมจะผลิตออกมาหลังจากนี้อาจจะไม่ใช่ยาที่มุ่งเพื่อการรักษา แต่เป็นการส่งเสริมการผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เน้นการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งจะทำให้มูลค่าการสูญเสียในระบบน้อยลง ความมั่นคงทางการยาก็จะมากขึ้น

“ในส่วนขององค์การเภสัชกรรมตอนนี้เรามีโรงงานอยู่ที่ถนนพระราม 6 เป็นโรงงานแห่งแรกและมีโรงงานที่ 2 อยู่ที่รังสิตคลอง 10 ซึ่งในอนาคตภายในปี 2567 เราจะย้ายไลน์การผลิตพระราม 6 ไปที่โรงงานรังสิตเฟส 2 ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตขององค์การเภสัชกรรมเพิ่มจากปัจจุบัน 1 เท่าตัว ณ ตอนนั้นจะทำให้เรามีศักยภาพในการขยายการผลิตได้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นยาเม็ด ยาครีม ยาน้ำหรือยาฉีด

ดัน ‘สมุนไพรไทย’ แสนล้าน หนุนความมั่นคงทางการยา ลดพึ่งพาต่างชาติ

นอกจากนี้เรายังมีโรงงานผลิตวัคซีนที่สระบุรี ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการผลิตวัคซีนโควิดและวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และในอนาคตจะต้องมอนิเตอร์เรื่องของความมั่นคงทางการยาและแนวโน้มเทรนด์ของวัคซีนว่าจะเป็นไปในทิศทางไหนที่เราจะเข้ามาช่วยซัพพอร์ตได้เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง เพื่อสร้างความมั่นคงทางการยาในประเทศไทยให้เกิดขึ้น”

ขณะที่นางศิรินันท์ ทับทิมเทศ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า สมุนไพรถือเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนคนไทย ซึ่งตามตำรับยาโบราณที่ใช้สืบต่อกันมา จะเห็นว่ามีตำรับยาจำนวนมากที่ใช้สมุนไพรเป็นส่วนประกอบ ในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามียาสมุนไพรที่เป็นพระเอกเข้ามาช่วยในช่วงที่มีโรคอุบัติใหม่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะต้องใช้ยาอะไรในการรักษา

เพราะฉะนั้นสมุนไพรจึงเป็นตัวเลือกในการรักษา และประเทศไทยเองก็มีสมุนไพรและตำรับยาจำนวนมากที่สามารถนำมาใช้ได้จริง ที่ผ่านมาจึงมีการใช้ยาสมุนไพรเป็นยาทางเลือกและใช้ทดแทนยาปัจจุบัน ทำให้คนไทยเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้นในราคาไม่แพงมากนัก

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,901 วันที่ 2 - 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2566