เจ๋ง!นักวิจัยไทยพัฒนานวัตกรรมชะลอการเสื่อมของเซลล์จาก "แตงไทย"

24 มิ.ย. 2566 | 18:50 น.
563

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ ประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังผู้สูงอายุจากพืชตระกูลเมล่อน "แตงไทย" เปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (InnoHerb) ดำเนินงานตามนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย

ล่าสุดประสบผลสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เภสัชโภชนภัณฑ์เพื่อชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังสำหรับผู้สูงอายุ จากพืชสมุนไพรตระกูลเมล่อน "แตงไทย" รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2570

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เภสัชโภชนภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากพืชสมุนไพร "แตงไทย" ซึ่งอยู่ในตระกูลเมล่อน (Cucumis melo) และเป็นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ภายใต้การดำเนินโครงการวิจัย "การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เภสัชโภชนภัณฑ์เพื่อชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังสำหรับผู้สูงอายุจากสารรงควัตถุในพืชสมุนไพรสู่ประเทศไทย 4.0" นับเป็นการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม

ตามนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศ ซึ่งจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2570 

ทั้งนี้ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกายย่อมเสื่อมถอยลงส่งผลให้เกิดโรคเสื่อมในระบบต่างๆของร่างกาย ประกอบด้วย ระบบประสาท ระบบผิวหนัง ระบบฮอร์โมน ระบบหลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบกระดูกและข้อ เป็นต้น

โดยเฉพาะการเสื่อมสภาพของผิวหนังและเส้นผม ซึ่งมีผลต่อสภาพจิตใจและการออกสู่สังคม ที่ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากสำหรับผู้สูงอายุ  

"การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ได้แก่ ผิวหนังบางลง เซลล์ผิวหนังลดลง ความยืดหยุ่นของผิวหนังไม่ดี ผิวหนังเหี่ยว และมีรอยย่น จำนวนเม็ดสีลดลง ล้วนส่งผลให้การทำหน้าที่ปกป้องรังสียูวีจากแสงแดดลดลง ก่อให้เกิดฝ้าและกระมากขึ้น เนื่องจากจำนวนเซลล์สร้างเส้นใยอิลาสติกและคอลลาเจนในชั้นหนังแท้ลดลง

การที่เส้นใยคอลลาเจนลดลง มีผลทำให้เซลล์ทำหน้าที่ลดลง ส่งผลให้เซลล์ที่ผิดปกติถูกทำลายได้ยากขึ้น ความชื้นที่ผิวหนังกำพร้าลดลง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ผิวเหี่ยวย่นและมีริ้วรอยมากขึ้น

ดังนั้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพเพื่อชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ผิวหนังสำหรับผู้สูงอายุ จึงมีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบันและในอนาคต สำหรับรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์" ผู้ว่าการ วว. กล่าว

เบื้องต้น วว. ประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เภสัชโภชนภัณฑ์เพื่อชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังสำหรับผู้สูงอายุจากพืชสมุนไพรตระกูลเมล่อน "แตงไทย" จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ดังนี้

1.สารสกัดหยาบเปลือกแตงไทยในรูปแบบโซลิดดิสเพอร์ชัน

จุดเด่น คือ พัฒนาโดยใช้ระบบนำส่งรูปแบบโซลิดดิสเพอร์ชัน มีอนุภาคขนาดไมครอน มีสารสำคัญ ได้แก่ กรดเฟอรูลิก สกัดจากเปลือกแตงไทย

ผ่านการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านการชรา และป้องกันความเสียหายจากรังสี UVA ในเซลล์ผิวหนัง

มีค่าการละลายน้ำและการปลดปล่อยของสารสำคัญได้เร็วกว่าสูตรผสมทางกายภาพ ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษในเซลล์ผิวหนังมนุษย์ชนิดไฟโบรบลาสต์ เซลล์มะเร็งลำไส้มนุษย์ ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษ

เมื่อทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันทางปากในสัตว์ทดลอง ใช้เป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรือเสริมอาหารและมีความคงตัว (stability) 

2.เฟอร์รูลิกแอซิด พลัส ซีอี (Ferulic acid plus CE)

จุดเด่น คือ เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผงชงดื่มชนิดแรกที่พัฒนาจากสารสกัดแตงไทยในรูปแบบโซลิดดิสเพอร์ชัน มีสารสำคัญ ได้แก่ กรดเฟอรูลิก สกัดจากเปลือกแตงไทย

ผ่านการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านการชรา และป้องกันความเสียหายจากรังสี UVA ในเซลล์ผิวหนัง โดยระบบนำส่งโซลิดดิสเพอร์ชันสามารถเพิ่มค่าการละลาย ส่งผลให้การดูดซึมและชีวประสิทธิผลดีขึ้น ไม่มีไขมัน ไม่มีน้ำตาลทราย ละลายได้ในของเหลว ง่ายต่อการรับประทาน ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษ เมื่อทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันทางปากในสัตว์ทดลองและมีความคงตัว (stability)

นางศิรินันท์ ทับทิมเทศ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร กล่าวเพิ่มเติมว่า พืชตระกูลเมล่อนเป็นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ นอกจากจะนำมาใช้ในการประกอบอาหารแล้วยังสามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ด้วย ในอดีตมีการรับประทานพืชตระกูลเมล่อนเพื่อป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น ความชราภาพ การอักเสบ และมะเร็ง

นอกจากนี้ยังมีการแนะนำให้ใช้สำหรับการรักษาโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารได้มีการใช้ผลทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำผลไม้ แยม สลัด ขนม ทำให้มีเปลือกและเมล็ดซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ได้ใช้งานเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก นำมาสู่การศึกษาสารสำคัญในส่วนเหลือทิ้งพบว่า มีวิตามินเอ วิตามินซี แร่ธาตุ กากใย น้ำมัน แคโรทีนอย และโพลีฟีนอล ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ช่วยชะลอหรือยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของไขมันและโมเลกุลอื่น ป้องกันเซลล์จากการทำลายของอนุมูลอิสระ 

ประโยชน์ของ "แตงไทย" 

แตงไทย เป็นหนึ่งในพืชตระกูลเมล่อน ปลูกได้ง่าย ทนทาน แข็งแรง สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย มีสารอาหารคล้ายกับเมล่อนทั่วไป อุดมด้วยวิตามินเอ ซี อี ธาตุฟอสฟอรัส แคลเซียม โพแทสเซียม คาร์โบไฮเดรต

จากการศึกษาพบว่า เปลือกมีสารสำคัญ คือ กรดเฟอรูลิก (Ferulic acid) ซึ่งอยู่ในกลุ่มโพลีฟีนอล มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการใช้อย่างแพร่หลายในการผสมในเครื่องสำอางเพื่อชะลอวัย ลดริ้วรอย ทำให้ผิวกระจ่างใสขึ้น แต่ยังมีการใช้ในรูปสารสกัดจากแตงไทยค่อนข้างน้อย

รวมถึงกรดเฟอรูลิกมีค่าการละลายน้ำที่ต่ำ ส่งผลให้มีการดูดซึมและมีชีวประสิทธิผลที่ต่ำ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์เภสัชโภชนภัณฑ์จากสารสกัดจากเปลือกแตงไทยโดย วว. ซึ่งมีสารสำคัญคือกรดเฟอรูลิกในรูปแบบผงสำหรับชงแล้วดื่ม โดยมีการพัฒนาระบบนำส่งโดยใช้เทคนิคโซลิดดิสเพอร์ชัน (Solid dispersion) ซึ่งจะทำให้เพิ่มค่าการละลาย เพิ่มความสามารถในการดูดซึมได้

นอกจากนี้ยังมีการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในด้านความคงตัว และการทดสอบประสิทธิภาพของสาร ข้อมูลทางการตลาดพบว่า ผลิตภัณฑ์เภสัชโภชนภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากพืชสมุนไพร

มีแนวโน้มมูลค่าการตลาดที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของประเทศ

จากข้อมูลในปี 2558 พบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 7% แบ่งออกเป็นมูลค่าภายในประเทศประมาณ 20,000 ล้านบาท และมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 80,000 ล้านบาท และยังมีอัตราการเติบโตในลักษณะก้าวกระโดดในปี 2559-2560

เนื่องจากคนไทยนิยมอาหารเสริมสุขภาพจากสมุนไพรและเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อความสวยงามและเพื่อสุขภาพที่ดีมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อความงามและชะลอวัยจากสมุนไพรกำลังได้รับกระแสความนิยมเป็นอย่างมาก หรือที่เรียกว่า ผลิตภัณฑ์นิวตริคอสเมติก (Nutricosmetic supplement)