แพ้อากาศ "หน้าร้อน" เกิดอาการผดร้อนต้องทำอย่างไรเช็คเลยที่นี่

03 เม.ย. 2566 | 14:45 น.
อัปเดตล่าสุด :03 เม.ย. 2566 | 14:45 น.

แพ้อากาศ "หน้าร้อน" เกิดอาการผดร้อนต้องทำอย่างไรเช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หลังอุหภูมิประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระบุสามารถเกิดได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ชี้เด็กเล็กต้องดูแลเป็นพิเศษ

หน้าร้อนมาพร้อมกับโรคภัยไข้เจ็บหลากหลายประเภท นอกจากฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด ยังมีโรคอื่นที่อันตรายไม่แพ้กัน

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่าอีกหนึ่งโรคสำคัญก็คือ ผดร้อน

โรคดังกล่าวเกิดจากอะไร และมีวิธีป้องกันอย่างไร 

"ผดร้อน" เป็นตุ่มคันขนาดเล็ก เกิดจากต่อมเหงื่อที่อุดตันใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะเมื่อเหงื่อออก หรืออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนและชื้น ซึ่งผดร้อนอาจปรากฏขึ้นได้ทั่วร่างกาย เช่น บริเวณใบหน้า คอ หลัง อก และต้นขา เป็นต้น 

แม้ผดร้อนเป็นภาวะทางผิวหนังที่ไม่อันตราย และอาจหายได้เองเมื่ออากาศเย็นลง แต่ควรศึกษาข้อมูลเพื่อป้องกันหรือรับมือหากเกิดผดร้อนขึ้นกับตนเอง

อาการของผดร้อน

อาการคันและมีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นตามร่างกาย เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปของผดร้อน โดยมักปรากฏขึ้นบริเวณใต้ร่มผ้า หรือบริเวณใบหน้า คอ หลัง อก และต้นขา

เด็กเล็กมักเกิดผดร้อนบริเวณคอ หัวไหล่ และหน้าอก และบางครั้งอาจปรากฏอาการบริเวณรักแร้ ข้อพับแขน และขาหนีบได้ 

ผดร้อนอาจเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น ตุ่มน้ำใสขนาด 1-2 มิลลิเมตร ไม่แสดงอาการเจ็บหรือคัน แต่อาจแตกเป็นสะเก็ดได้ง่าย มักเกิดจากการอุดตันในผิวหนังชั้นที่ตื้นที่สุด ทำให้เหงื่อที่รั่วออกมาจากท่อเหงื่อสะสมอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณนั้นซึ่งถูกปกคลุมด้วยผิวหนังบาง ๆ โดยมักเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยสัมผัสอากาศร้อนไม่กี่วัน และพบได้ทั่วตัวในทารก หรือบริเวณลำตัวในผู้ใหญ่

ผดแดง ซึ่งทำให้รู้สึกคัน เจ็บแสบ หรือระคายเคือง และมักเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังที่มีการเสียดสี เช่น อก คอ หลัง และข้อพับ

ตุ่มสีเนื้อขนาด 1-3 มิลลิเมตร ลักษณะคล้ายผิวห่าน และไม่แสดงอาการอื่น ๆ เกิดจากการรั่วของต่อมเหงื่อชั้นหนังแท้ ซึ่งมักเกิดในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังสัมผัสความร้อน

ตุ่มเป็นหนองจากการอักเสบติดเชื้อ แม้อาการมักหายไปเองเมื่ออากาศเย็นลง แต่ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ หากปรากฏอาการดังต่อไปนี้

ผดไม่ยอมหาย ยังคันและเจ็บปวดอย่างต่อเนื่องเกิน 2-3 วัน

ผดมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป เช่น ผดมีสีแดงสว่าง หรือเป็นริ้วลาย และผดเกิดขึ้นหลังจากใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาตัวใหม่ที่ไม่เคยใช้มาก่อน เจ็บปวดเพิ่มขึ้น อาจเกิดร่วมกับอาการบวม แดง หรือ รู้สึกอุ่น ๆ บริเวณที่เป็นผด ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ

ต่อมน้ำเหลืองบวม ซึ่งอาจเกิดขึ้นบริเวณรักแร้ คอ และขาหนีบติดเชื้อ เมื่อผดร้อนที่เกิดขึ้นเริ่มมีหนองหรืออาการติดเชื้ออื่น ๆ มีไข้ หรือมีสัญญาณของภาวะเจ็บป่วยอื่น ๆ

สาเหตุของผดร้อน

สาเหตุหลักของผดร้อน คือ เหงื่อโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนและชื้น เพราะเหงื่อปริมาณมากจะทำให้ต่อมเหงื่อใต้ผิวหนังอุดตัน และไม่สามารถระเหยออกมาได้ และเมื่อท่อส่งเหงื่ออุดตัน อาจทำให้เกิดการรั่วของเหงื่อสะสมอยู่ในชั้นผิวหนัง เกิดเป็นตุ่มน้ำจนกลายเป็นผดร้อนหรือเกิดการอักเสบตามมาได้
 

ในปัจจุบันยังไม่อาจระบุสาเหตุที่ทำให้ต่อมเหงื่ออุดตันได้ชัดเจน แต่เป็นไปได้ว่าอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ ได้แก่ 

ภูมิอากาศเขตร้อน ร่างกายสัมผัสแสงแดด หรือสภาพอากาศที่ร้อนและชื้นจนมีเหงื่อออกมาก

ต่อมเหงื่อพัฒนาไม่สมบูรณ์ อาจเกิดขึ้นได้กับทารกแรกเกิดที่มีอายุเพียง 1 สัปดาห์ เพราะต่อมเหงื่ออาจยังเจริญไม่เต็มที่ จึงอาจทำให้เหงื่อติดอยู่ใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในตู้อบเด็กหรือเป็นไข้

การปกปิดร่างกาย เช่น การปิดผิวหนังด้วยพลาสเตอร์ การใส่เสื้อผ้าที่อบอุ่นและหนาเกินไป หรือการนอนใต้ผ้าห่มไฟฟ้าที่ทำให้เกิดความร้อน

การทำกิจกรรมที่ใช้แรง เช่น การออกกำลังกายหนัก ๆ หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้มีเหงื่อออกมาก

ภาวะที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ เมื่อเกิดอาการป่วยต่าง ๆ ขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีไข้ อาจทำให้ตัวร้อนและมีเหงื่อออกขณะนอนพักรักษาตัว หรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ทำให้ต้องนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานาน

น้ำหนักมาก หรือภาวะอ้วน อาจทำให้มีเหงื่อออกมากเป็นพิเศษ

การรักษาผดร้อน

การรักษาด้วยตนเองนั้น เมื่อพบว่ามีผดร้อนเกิดขึ้น อาจบรรเทาอาการคัน หรือป้องกันอาการกำเริบลุกลามได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น

อยู่ในบริเวณที่มีอากาศเย็น หรือมีเครื่องปรับอากาศ และประคบผ้าเย็นบริเวณผิวหนัง เพื่อช่วยลดความร้อน

หลีกเลี่ยงการใช้พลาสเตอร์ปิดทับผิวหนัง หรือไม่สวมใส่เสื้อผ้ารัดรูป เพื่อป้องกันการอุดตันของต่อมเหงื่อ

หลีกเลี่ยงการทำงานหรือออกกำลังกลางแจ้งที่อาจทำให้เกิดเหงื่อออกมาก

อาบน้ำด้วยน้ำเย็นและสบู่ที่ไม่ทำให้ผิวแห้ง และปล่อยให้ผิวแห้งเองหลังอาบน้ำเสร็จ ไม่ใช้ผ้าขนหนูเช็ดตัวเพื่อลดการเสียดสีจนเกิดผดร้อนอักเสบเพิ่มขึ้น

ทารกหรือเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถดูแลตนเองได้ดีพอ อาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ถอดเสื้อผ้าเด็กออก หรือให้เด็กสวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ ที่ระบายอากาศได้ดี

พาเด็กเข้าที่ร่ม หรือบริเวณที่มีเครื่องปรับอากาศ

อาบน้ำเย็น โดยให้น้ำไหลผ่านผิวหนังเรื่อย ๆ เพื่อชำระล้างเหงื่อและไขมันตามร่างกายออกไป และอาจใช้ผ้าเปียกหรือผ้าเย็นวางบนบริเวณที่เกิดผดร้อนเพื่อลดอุณหภูมิให้เย็นลง

ใช้พัดลมเป่าตัวเด็กให้แห้งหลังจากอาบน้ำแทนการใช้ผ้าขนหนูเช็ดตัว เพื่อลดการเสียดสีกับผิวหนัง

ตัดเล็บเด็กให้สั้นอยู่เสมอ หรือสวมถุงมือให้เด็กเพื่อป้องกันการเกาผิวหนังจนทำให้อาการรุนแรงขึ้น

การรักษาด้วยยา

โดยส่วนใหญ่ หากหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้น ดูแลให้บริเวณที่เกิดผดเย็นและแห้งอยู่เสมอ ผดร้อนและอาการต่าง ๆ ที่ไม่รุนแรงมากนักอาจหายได้เองภายใน 2-3 วัน แต่หากผดร้อนและอาการอื่น ๆ ที่ปรากฏมีความรุนแรง แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยารักษาตามอาการ เช่น รับประทานยาแก้แพ้ถ้ามีอาการคัน

และใช้ยาขี้ผึ้งหรือผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นผิวเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ รวมทั้งลดความเสี่ยงการเกิดผลข้างเคียงจากผดร้อน เช่น โลชั่นคาลาไมน์ สารให้ความชุ่มชื้นแอนไฮดรัส ลาโนอิน (Anhydrous Lanolin) ป้องกันการเกิดผดร้อนเพิ่มขึ้น และยาทาสเตียรอยด์ สำหรับรักษาผดร้อนที่มีอาการรุนแรง

อย่างไรก็ดี หากยังไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ห้ามใช้ยาทาขี้ผึ้งหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวอื่น ๆ เพื่อรักษาผดร้อนในเด็ก และหากผดร้อนกลายเป็นตุ่มหนอง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หรือแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม เพราะผดร้อนที่ติดเชื้อแบคทีเรียอาจต้องรักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของผดร้อน

โดยปกติ ผดร้อนอาจไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียจนทำให้ผดอักเสบ เป็นตุ่มหนอง คัน และมีอาการอื่น ๆ ตามมาได้

การป้องกันผดร้อน

วิธีป้องการเกิดผดร้อน มีดังนี้

เลือกสวมเสื้อผ้าที่เหมาะสม ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดเกินไปจนทำให้เกิดการระคายเคืองได้ และเลือกสวมเสื้อผ้าให้เหมาะตามฤดูกาล เช่น ใส่เสื้อผ้าที่นุ่ม เบา ทำจากผ้าฝ้าย ระบายอากาศได้ดีในฤดูร้อน และเลือกสวมเสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายในฤดูหนาว แต่ไม่ควรสวมเสื้อผ้าหนาเกินไปจนทำให้รู้สึกร้อน

หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ ครีม หรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียมเจลลี่ หรือน้ำมันแร่ที่อาจทำให้รูขุมขนอุดตัน

ใช้สบู่ที่ไม่ทำให้ผิวแห้ง ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม หรือไม่มีการเจือสี

หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนและชื้น อาจนำพัดลมขนาดพกพาติดตัวไว้หากต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง

หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากในสภาพอากาศที่ร้อนและชื้น

หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผิวหนังส่วนเกินทับซ้อนกัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน และป้องกันได้ด้วยการลดน้ำหนัก

ทำให้ผิวเย็นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันเหงื่อออกมาก เช่น อาบน้ำเย็น อยู่ในที่ร่มหรือห้องปรับอากาศ และอาจแเพื่อลดอุณหภูมิผิวหนังร่วมด้วย แต่ไม่ควรประคบผิวหนังนานเกิน 20 นาที

เปิดเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมเวลานอน เพื่อป้องกันความร้อนหรือความชื้นที่อาจเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ แต่ควรปรับความเย็นให้เหมาะสม ระวังไม่ให้เย็นจนเกินไป โดยเฉพาะหากมีเด็กเล็กอาศัยอยู่ด้วย

สำหรับเด็กเล็ก ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากผู้ปกครอง โดยควรสังเกตอยู่เสมอว่าผิวของเด็กร้อนหรือชื้นเกินไปหรือไม่ โดยเฉพาะบริเวณลำคอ หว่างขา และบริเวณอื่น ๆ ที่อาจกักเหงื่อไว้ หากพบผิวหนังบริเวณที่ร้อนชื้น ผู้ปกครองควรล้างบริเวณดังกล่าวด้วยน้ำเย็น และพยายามให้ผิวหนังบริเวณนั้นแห้งอยู่เสมอ โดยห้ามใช้แป้งเด็ก เพราะแป้งอาจไปอุดตันรูขุมขนจนทำให้ผิวหนังเกิดความร้อน และห้ามใช้ผ้าอ้อมที่ทำจากพลาสติก เพราะอาจทำให้เด็กร้อนและระคายเคืองได้