จัดห้องปลอดฝุ่น ให้เจ้าหน้าที่ทำงานจากที่บ้าน แพทยศาสตร์ มช.แนะติดตามตัวเลขคุณภาพอากาศใกล้ชิด เพื่อดูแลสุขภาพตัวเองและครอบครัว หวั่นPM0.1ยิ่งอันตราย ทะลวงเข้าทุกระบบร่างกาย เสี่ยงถึงชีวิต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 31 มีนาคม 2566 นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) เชียงใหม่ ลงนามประกาศสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ระบุรายละเอียดว่า
จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่ที่เกินค่ามาตรฐาน และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติตามมาตรการ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในกรณีที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในพื้นที่ อยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือสีส้ม (มีค่ามากกว่า 51 มคก./ลบ.ม.) และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพหรือสีแดง (มีค่ามากกว่า 91 มคก./ลบ.ม.) ดังนี้
ข้อที่ 1 ให้สถานบริการและหน่วยงานทุกแห่งในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พิจารณาปรับระบบบริการและการปฏิบัติงานตามบริบทพื้นที่ ดังนี้
1.1 เลื่อนนัดผู้ป่วยตามความเหมาะสม โดยจัดให้มีระบบการติดตามละส่งยาทางไปรษณีย์
1.2 ให้บริการ Telemedicine ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และ Teleconsultation ระหว่างสถานบริการ
1.3 จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น และสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันให้กับบุคลากร และผู้มารับบริการ
1.4 จัดระบบ work from home ในส่วนภารกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชน และการประชุมสื่อสารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
1.5 เมื่อมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อยู่ในระดับสีส้ม ควรลดกิจกรรมการแจ้งทุกชนิด
1.6 เมื่อมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง ให้งดกิจกรรมการแจ้งทุกชนิด
1.7 ห้ามเผาในที่โล่งแจ้ง ดูแลยานพาหนะให้ปราศจากควันดำและลดการเดินทาง
ข้อที่ 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันให้กับบุคลากรในการปฏิบัติงาน และจัดเตรียมห้องประชุมทุกห้องประชุม ห้องบริการทันตกรรม และห้องบริการเบ็ดเสร็จครบวงจร ของกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข เป็นห้องปลอดฝุ่นสำหรับเจ้าหน้าที่และผู้มารับบริการ
ทั้งนี้ ขอให้เจ้าหน้าที่สวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เพื่อป้องกันฝุ่น โดยเฉพาะเมื่อออกในที่โล่งแจ้ง และสื่อสารประชาสัมพันธ์ ให้คำแนะนำประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงให้มีความรอบรู้ และปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5
เช่นกัน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เผยแพร่สาร เรื่อง วิกฤตหมอกควันต่อภาวะสุขภาพประชาชน ลงนามโดยศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) นายแพทย์บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีเนื้อหาว่า
สถานการณ์วิกฤตหมอกควันที่เกิดขึ้นอย่างหนักในทุกพื้นที่ของภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ขณะนี้ มลพิษอากาศฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน มีผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน และโรคเยื่อบุตาอักเสบ มีอาการกำเริบ เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จำนวน 12,671 ราย ( สถิติ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม จนถึง 31 มีนาคม 2566 ) และยังมีผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ เนื่องจากหอผู้ป่วยเต็มอย่างต่อเนื่อง
ฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมถึง 20 กว่าเท่า เมื่อหายใจเข้าไปแล้ว สามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูก เข้าสู่ปอดและหลอดลมได้ นอกจากนี้ยังมีฝุ่น PM 0.1 ซึ่งเป็นฝุ่นละเอียดขนาดเล็กมาก สามารถทะลวงผ่านถุงลมเข้าสู่ระบบเลือด ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจและสมองอุดตัน หัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ หอบหืดกำเริบ รวมทั้งอาการอื่น ๆ ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต
บุคลากรทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การวิกฤตหมอกควันภาคเหนือในขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงขอให้ประชาชนทุกท่านดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว โดยเริ่มจากตัวท่านเองต้องไม่เผา ไม่เป็นต้นเหตุของปัญหาในการทำให้เกิดมลพิษ หมั่นตรวจสอบปริมาณฝุ่นPM2.5 ในอากาศ จากแอปพลิเคชันรายงานดัชนีคุณภาพอากาศหรือเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ
หากระดับเกิน 35 ไมโครกรัม/ลบ.เมตร ประชาชนกลุ่มเสี่ยงควรลดการทำกิจกรรมนอกอาคาร หากระดับเกิน 50 ไมโครกรัม/ลบ.เมตร ควรเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกอาคาร คนทั่วไปควรงดการออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน รวมถึงงดการเข้าร่วมแข่งขันกีฬากลางแจ้งทุกประเภท และหากเกิน 150 ไมโครกรัม/ลบ.เมตร ควรงดการออกนอกอาคาร ปิดประตูหน้าต่างมิดชิด อยู่แต่ภายในบ้าน เปิดเครื่องฟอกอากาศที่สามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กได้
หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้สวมใส่หน้ากากที่ป้องกัน PM 2.5 ชนิด N95 และต้องสวมหน้ากากให้ถูกต้อง เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันอย่างสูงสุดสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางควรได้รับการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด และหากพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
ขอให้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือมั่นใจว่าแพทย์ พยาบาลและ บุคลากรทางการแพทย์ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมดูแลประชาชนภาคเหนืออย่างเต็มศักยภาพ
ด้านรศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ และอาจารย์ประจำหน่วยวิชาระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มช.ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ฝุ่นPM 2.5 ถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ เพราะเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมาก (เล็กกว่าเส้นผมถึง 20 กว่าเท่า) เมื่อหายใจเข้าไปแล้ว สามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าสู่ปอดและหลอดลมได้ แ
แต่ที่ร้ายยิ่งกว่า PM 2.5 คือ PM 0.1 ซึ่งเป็นฝุ่นละเอียดขนาดเล็กมาก เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 0.1 ไมครอน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน PM2.5 สามารถทะลวงผ่านถุงลมเข้าสู่ระบบเลือด ไปได้ทุกส่วนของร่างกาย ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจและสมองอุดตัน ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต
ทั้งนี้ มีงานวิจัยของจังหวัดเชียงใหม่ที่ได้ยืนยันแล้วว่า เมื่อคุณภาพอากาศเลวลง อัตราการเข้ารับบริการ ณ ห้องฉุกเฉินและการเข้าอยู่ในโรงพยาบาลจะสูงขึ้น เพราะมลพิษทำให้ปัญหาสุขภาพที่มีอยู่กำเริบขึ้น ทั้งยังเป็นสาเหตุทำให้หัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ หอบหืดกำเริบ รวมทั้งอาการอื่นๆและการเพิ่มขึ้นของการเสียชีวิตได้อีกด้วย
เช่นเดียวกับสถานการณ์ปัจจุบันของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ พบว่าในช่วงที่มลพิษอากาศฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างชัดเจน มีผู้ป่วยที่อาการกำเริบเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลยังห้องฉุกเฉินเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถเข้านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลได้เนื่องจากหอผู้ป่วยเต็มอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง และบุคคลในครอบครัวเพื่อรับมือกับฝุ่น PM2.5 สังเกตตนเองและบุคคลในครอบครัว หากพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์
นอกจากนี้แนะนำว่า ให้หมั่นตรวจสอบปริมาณฝุ่น PM2.5 ในอากาศ ถ้าระดับเกิน 35 ไมโครกรัม/ลบ.เมตรตามมาตรฐานสหรัฐอเมริกา ประชาชนกลุ่มเสี่ยงควรลดการทำกิจกรรมนอกอาคาร หากเกินระดับเกินประมาณ50 ไมโครกรัม/ลบ.เมตร ควรเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกอาคาร
และหากเกิน 150 ไมโครกรัม/ลบ.เมตร ควรงดการออกนอกอาคาร ปิดประตูหน้าต่างมิดชิด อยู่แต่ภายในบ้าน หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้สวมใส่หน้ากากที่ป้องกัน PM 2.5 ได้และต้องสวมหน้ากากให้ถูกต้อง เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันอย่างถูกวิธีสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ควรได้รับการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด