"แม่แจ่มไม่เผา"รับซื้อเปลือกข้าวโพด300ตันแก้ฝุ่นควัน

23 มี.ค. 2566 | 14:34 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มี.ค. 2566 | 14:44 น.

ตัดวงจร"เผา"แก้ปัญหาฝุ่นควัน บ.ฟาร์มโต๊ะฯลงนามเอ็มโอยูกับสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม รับซื้อเปลือกข้าวโพดสร้างรายได้เกษตรกรในพื้นที่ 300 ตัน เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ 

วันที่ 22 มีนาคม 2566 ที่สหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม จำกัด ต.ช้างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่  นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมนางสาวกมลวรรณ นุชัย สหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่าง สหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม จำกัด สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ และบริษัท ฟาร์มโตะ(ไทยแลนด์) จำกัด

โดยมีนางสาวพัทธนันท์  พิทาคำ นายอำเภอแม่แจ่ม เป็นประธานพิธีลงนาม  นายพิชิต ไชยทา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด กล่าวต้อนรับ นายทองสุขพันธ์พิชัย รองประธานสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่มจำกัด กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การดำเนิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมงาน

\"แม่แจ่มไม่เผา\"รับซื้อเปลือกข้าวโพด300ตันแก้ฝุ่นควัน

\"แม่แจ่มไม่เผา\"รับซื้อเปลือกข้าวโพด300ตันแก้ฝุ่นควัน

โครงการดังกล่าวเป็นการยกระดับการแก้ไขปัญหาหมอกควัน P.M.2.5 แบบมีส่วนร่วม ในการจัดการวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร "เปลี่ยนภาระเป็นพลัง สร้างรายได้" โดยจะรับซื้อเปลือกข้าวโพด จำนวน 300 ตัน ในราคากิโลกรัมละ 1.50 บาท จากเกษรตรผู้ปลูกข้าวโพดในอำเภอแม่แจ่ม   

ทั้งนี้ เพื่อนำไปผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีความสวยงาม น่าใช้   เช่น กล่องบรรจุอาหาร, จาน, กระดาษขนาด 300 แกรม เป็นต้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้เทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นการช่วยลดฝุ่นควัน PM 2.5 และสร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่  เป็นเงินรวมถึง 4,500,000 บาท อีกทั้งเกิดความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาตามระบบ BCG Model 

\"แม่แจ่มไม่เผา\"รับซื้อเปลือกข้าวโพด300ตันแก้ฝุ่นควัน

\"แม่แจ่มไม่เผา\"รับซื้อเปลือกข้าวโพด300ตันแก้ฝุ่นควัน

นายอภิรักษ์ ประสงค์สุข รักษาการเกษตรอำเภอแม่แจ่ม กล่าวว่า อำเภอแม่แจ่มมีพื้นที่การปลูกข้าวโพดอันดับ 1 ของจังหวัด มีพื้นที่ประมาณ 170,000 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตร ตระหนักวิกฤติฝุ่นควัน

โดยได้ดำเนินโครงการส่งเสริมหยุดการเผาในพื้นที่เกษตร รวมถึงสร้างการรับรู้ด้วยการบริหารจัดการเชื้อเพลิงครบวงจร โดยใช้เทคโนโลยีลดการเผา เช่น การทำปุ๋ยหมัก นำไปแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล อาหารสัตว์ ฯ 

พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายปลอดการเผาแก่เกษตรกร สร้างความตระหนักรู้ การทำการเกษตรปลอดการเผา ดังในวันนี้ที่มีเครือข่ายบริษัทเอกชนมารับซื้อซังข้าวโพดในพื้นที่ นับว่าเป็นการแก้ปัญหาสร้างรายได้อย่างยั่งยืนแก่พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในอำเภอแม่แจ่ม