ซีพี - ซีพีเอฟ จัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับ จากแหล่งปลูกที่ไม่รุกป่า และไม่เผา 100%

14 มี.ค. 2566 | 16:24 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2566 | 16:30 น.

ซีพี - ซีพีเอฟ จัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับ จากแหล่งปลูกที่ไม่รุกป่า และไม่เผา 100%

กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (Feed Ingredients Trading Business Group : FIT) เครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นำเทคโนโลยีระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (corn traceability) สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมาใช้ สร้างหลักประกันการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปราศจากการบุกรุกป่าและไม่เผา ซึ่งดำเนินการอย่างเป็นระบบและประสบความสำเร็จอย่างดีในประเทศไทย และยังได้ส่งเสริมประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีการเพาะปลูกข้าวโพดจำนวนมาก นำระบบดังกล่าวไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เมียนมา สปป.ลาว และเวียดนาม 

นายไพศาล เครือวงศ์วานิช ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ในฐานะเป็นผู้จัดหาสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบหลักทางการเกษตรของเครือซีพี  กล่าวว่า ซีพีและซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการสร้างห่วงโซ่การผลิตอาหารที่ยั่งยืน และสนับสนุนการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน โดยมุ่งมั่นจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งปลูกที่ปราศจากการบุกรุกพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทาง “ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ” ตลอดจนได้พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์(Corn Traceability)  ซึ่งนำมาใช้ในกิจการประเทศไทยตั้งแต่ปี 2560 และสามารถตรวจสอบถึงแหล่งปลูกที่มีเอกสารสิทธิ์ได้ 100%

กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ร่วมกับ ซีพี เมียนมา ซึ่งเป็นบริษัทในเครือซีพี ได้นำระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปใช้ในการรับซื้อผลผลิตข้าวโพดในเขตประเทศเมียนมาตั้งแต่ ปี 2563 เป็นต้นมา ปัจจุบัน ข้าวโพดที่บริษัทจัดหาในเมียนมาทั้งหมด ได้รับการตรวจสอบย้อนกลับว่าได้มาจากพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง โดยเกษตรกรร่วมลงทะเบียนเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้อง พร้อมพิกัดดาวเทียมจีพีเอสของพื้นที่มาใช้เพื่อยืนยันว่าเป็นข้าวโพดที่มาแหล่งที่มาไม่บุกรุกพื้นที่ป่าได้ 100%

“ความมุ่งมั่นในการจัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรด้วยความรับผิดชอบ ตามนโยบายการจัดหายั่งยืนของซีพีเอฟ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหาร และยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรเพาะปลูกบนพื้นที่ปลูกถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งส่งเสริมคู่ค้าธุรกิจ มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และดูแลผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ และร่วมจัดการปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน” นายไพศาลกล่าว 

สำหรับการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับโรงงานอาหารสัตว์ในประเทศไทย เกษตรกรสามารถลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชั่น ฟ ฟาร์ม (For Farm)   พร้อมยังยกระดับความเชื่อมั่นในระบบตรวจสอบย้อนกลับ โดยนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Traceability) ที่เพิ่มความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในกิจการประเทศไทยที่เชื่อมโยงตั้งแต่แปลงเพาะปลูกถึงโรงงานอาหารสัตว์ เป็นหลักการที่บริษัทปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด ตลอดจนสอดคลัองกับนโยบายการค้าโลกในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้ปลูก เพื่อสร้างห่วงโซ่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ยั่งยืน โดยริเริ่มจัดทำโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรที่เพาะปลูกในพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องในประเทศไทย เพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีแนวปฏิบัติในการเพาะปลูกที่ปลอดการเผา และตั้งจุดรับซื้อพิเศษที่ใกล้กับพื้นที่ปลูกของเกษตรกร เพื่อลดจำนวนเที่ยวรถขนส่งข้าวโพดไปโรงงาน และฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นจากการขนส่งผลผลิต  พร้อมทั้งลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้นำระบบถ่ายภาพทางดาวเทียมช่วยวิเคราะห์จุดที่ยังมีการเผาหลังเก็บเกี่ยวเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ลงไปแนะนำเกษตรกรลด ละ เลิกการเผาตอซัง เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองจากการเพาะปลูกที่ยั่งยืน พร้อมยังอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรเข้าถึงความรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ และแอปพลิเคชั่น ฟ.ฟาร์ม สอดคล้องตามที่บริษัทฯ ได้ประกาศนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืน และความมุ่งมั่นต่อต้านการตัดไม้ทำลาย และปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างห่วงโซ่ผลิตอาหารที่ยั่งยืน และยกระดับความเชื่อมั่นของคู่ค้าและผู้บริโภคทั่วโลก