กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมสุขภาพจิต พัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ลดต้นเหตุปัญหาความรุนแรง สนับสนุนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดผลักดันพรบ.สุขภาพจิตฉบับแก้ไขใหม่ 2562 และประมวลกฎหมายยาเสพติด 2564 เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการการดูแลอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัญหาพฤติกรรมรุนแรงในสังคมไทยส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด(Severe Mental Illness–High Risk to Violence; SMI-V) ซึ่งการดูแลรักษาต่อเนื่องจนถึงในชุมชนสามารถช่วยลดภาวะอันตรายจากผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและยาเสพติดให้ครอบคลุมในสถานพยาบาลทุกระดับโดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะในโรงพยาบาลจิตเวชเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังพัฒนาความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากหรือกลุ่มสีเขียวได้รับการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องในชุมชนโดยอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล และสามารถส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดหรือกลุ่มสีเหลืองสู่โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลระดับจังหวัด ในขณะที่โรงพยาบาลจิตเวชและโรงพยาบาลธัญญารักษ์จะมีหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีแดงซึ่งมีอาการด้านจิตเวชหรือปัญหาจากการเสพติดที่รุนแรงหรือมีความจำเป็นต้องบำบัดฟ้นฟูในระยะยาว
ความเชื่อมโยงในการทำงานนี้จะมีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานด้วยกลไกบูรณาการคณะอนุกรรมการประสานงานเพื่อการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิต ระดับจังหวัดกับคณะทำงานบูรณาการ คัดกรองบำบัด รักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางทางสังคม ระดับจังหวัด ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ซึ่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานดังกล่าวให้เหมาะสมและเป็นไปตามกฎหมาย
โดยมอบหมายให้กรมสุขภาพจิตจัดทำคู่มือการปฎิบัติงานแบบบูรณาการทั้งการดูแลสุขภาพจิตและยาเสพติดรวมทั้งความรู้ด้านกฎหมายต่างๆที่ทันสมัยเพื่อให้มีแนวทางทำงานในทุกระดับที่ชัดเจน นอกจากนี้ กระทรวงสาธาณสุขยังพร้อมผลักดันการเพิ่มกรอบอัตรากำลังผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตและยาเสพติด เพื่อขวัญกำลังใจและจะส่งเสริมความก้าวหน้าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อไป
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตร่วมกับกรมแพทย์รับมอบนโยบายปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดทำคู่มือดังกล่าวโดยเร็ว โดยมุ่งเน้นใน 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ประเด็นการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) การลดอัตราการฆ่าตัวตาย การติดตามและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด การสร้างเสริมความเข้มแข็งทางใจให้กับชุมชน รวมทั้งประเด็นอื่นๆตามบริบทพื้นที่
ทั้งนี้โรงพยาบาลชุมชนจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลสำเร็จแล้ว 449 จาก 776 แห่ง คิดเป็น58% ในขณะนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่มีการจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดแยกเฉพาะ 26.6% ทั้งนี้จากสำรวจโดยกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่าบุคลากรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดเห็นว่าการจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดจะส่งผลต่อความสำเร็จในการดำเนินงาน 66.7% อีกด้วย