นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา เปิดเผย ว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายได้เร่งดำเนินการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการรณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้านให้มากที่สุด ตามนโยบายของอธิบดีกรมสุขภาพจิต เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อ และความเสี่ยงการสัมผัสเชื้อไวรัสชนิดนี้ เนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ติดต่อกันง่ายทางการไอจาม โดยเชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย ละอองเสมหะของผู้ป่วยโดยตรง หรือติดต่อกันโดยการสัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่มีเชื้อปนเปื้อน แล้วนำมือมาสัมผัสที่ใบหน้า หรือหยิบอาหารเข้าปาก ก็ทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน
สำหรับวิธีการอยู่บ้าน ซึ่งจะให้ผลดีต่อประสิทธิภาพการควบคุมป้องกันโรค รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ มีข้อแนะนำให้ทุกครอบครัวใช้เทคนิคปฏิบัติ 4 ประการตามแนวทางของกรมสุขภาพจิต ดังนี้
1.ทุกบ้านควรจัดทำกฎกติกาของบ้าน สำหรับใช้เป็นข้อตกลงร่วมเพื่อให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน เช่น การล้างมือฟอกสบู่เหลวหรือสบู่ก้อนบ่อยๆ ,ลดการออกนอกบ้าน ,อยู่ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร หากสมาชิกคนใดไม่ทำตามกฎของบ้าน จะต้องกล้าบอกความจริงแก่ครอบครัว โดยต้องไม่มีการกล่าวโทษหรือซ้ำเติมกัน ทั้งนี้ให้ครอบครัวเป็นสถานที่พักพิงที่อบอุ่นใจ
2. ปรับวิธีการสื่อสาร เพื่อแสดงความรัก ความห่วงใย ให้กำลังใจแก่กันและกัน ในรูปแบบของการบอกหรือใช้ข้อความ แทนการสัมผัสโอบกอดหรือจูบ เพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัสเชื้อ ในกรณีที่สมาชิกในครอบครัวไม่ได้อยู่ด้วยกัน ขอให้ติดต่อพูดคุยกันทางโทรศัพท์ หรือใช้โซเชียลมีเดีย เช่น ไลน์ วิดีโอคอล เป็นต้น จะทำให้สมาชิกเกิดกำลังใจและรู้สึกว่าอยู่ใกล้กัน
3. ใช้วิธีคลายเครียดในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อลดความเบื่อหน่ายขณะอยู่บ้าน เช่น การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อฝึกทักษะการเรียนรู้ของสมองให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีตามความถนัด ความสนใจ และความเหมาะสมของสถานที่ เช่น ทำอาหารใหม่ตำรับที่เคยไปรับประทานนอกบ้าน หรือตำรับที่เคยรับประทานในอดีต การทำขนม เย็บปักถักร้อย ปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ดอก ไม้ผล หรือดูแลพืชสวนไร่นา ซึ่งจะได้ทั้งความสุขใจ และความเพลิดเพลิน
4. ดูแลจัดบ้านที่พักอาศัยให้สะอาดและปลอดภัย ซึ่งในช่วงที่มีโรคระบาดและเชื้อโรคติดต่อกันง่าย ให้จัดสถานที่ให้เป็นสัดส่วนเพื่อลดการใกล้ชิดกัน แยกของใช้เพื่อใช้เป็นการส่วนตัว เสมือนกับว่ามีคนติดเชื้ออยู่ในบ้านแล้ว เช่น แยกผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ช้อนตักอาหาร และหากมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านด้วย โดยเฉพาะเป็นผู้สูงอายุที่ติดบ้านหรือติดเตียง ขอให้ใช้ผู้ดูแลคนเดิมเนื่องจากมีประสบการณ์ และได้รับการฝึกทักษะการดูแลมาแล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุมีความรู้สึกเคยชินได้รับการปฏิบัติในชีวิตประจำวันคงเดิม
“หากทุกบ้าน ทุกครอบครัวลงมือปฏิบัติตามคำแนะนำที่กล่าวมา นอกจากจะป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายในวงกว้าง และยุติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ได้โดยเร็วแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความอบอุ่น ความเข้มแข็งให้สถาบันครอบครัว ประการสำคัญยังเป็นการสร้างประสบการณ์ให้สมาชิกในครอบครัว ได้เรียนรู้วิธีการปรับตัว สามารถอยู่อย่างปลอดภัยในช่วงที่มีวิกฤติการณ์เกิดโรคภัยระบาดด้วย” นายแพทย์กิตต์กวี กล่าว
พื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์