รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความระบุว่า
อัพเดต Omicron (โอมิครอน) สายพันธุ์ย่อยจาก WHO
องค์การอนามัยโลกออกรายงาน WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
สัปดาห์ล่าสุด BQ.1.x นั้นมีสัดส่วนในการตรวจพบเพิ่มขึ้นเป็น 36.2% (เดิม 27.6%)
ในขณะที่ XBB นั้นตรวจพบ 5% (เดิม 4.2%), BA.2.75 พบ 7.8% (เดิม 6.8%)
ข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นความจำเป็นต้องเฝ้าระวังสายพันธุ์ย่อย BQ.1.x ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยที่น่ากังวล
เพราะมีสมรรถนะการขยายตัวของการระบาดสูงกว่า BA.5
และดื้อต่อภูมิคุ้มกันทั้งจากการติดเชื้อมาก่อนและจากวัคซีนมากกว่าสายพันธุ์อื่นที่ระบาดมาก่อนหน้า
รายงานจากสวิสเซอร์แลนด์
ข้อมูลของ Federal Office of Statistics ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเพิ่งเผยแพร่เมื่อ 5 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
ชี้ให้เห็นว่า ตัวเลขผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลในช่วงสองปีที่ผ่านมานั้น สูงกว่าที่เคยมีการรายงานราว 2 เท่า
สถานการณ์ไทยเรา มีการติดเชื้อจำนวนมากในแต่ละวัน สังเกตได้จากคนรอบตัว ทั้งในครัวเรือน ที่ทำงาน หรืออื่นๆ
ข้อมูลการแพทย์ในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นแล้วว่า สายพันธุ์ย่อยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น BQ.1.1, XBB และอื่นๆ นั้น
ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้นอย่างมาก จนทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำ รวมถึงดื้อต่อยาแอนติบอดี้ที่ใช้ในการรักษาแทบทั้งหมด
แต่ข่าวดีคือ จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการนั้น ยาต้านไวรัสมาตรฐานที่สากลใช้อยู่ ได้แก่ Paxlovid, Molnupiravir, และ Remdesivir ยังใช้ได้ผลต่อสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้
จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศ ต้องวางแผนเรื่องยาต้านไวรัสให้ดี เข้าถึงได้ เพียงพอ และทั่วถึง
เหนืออื่นใด การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องจำเป็น
ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อลงไปได้มาก