ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า
ข้อมูลอีกหนึ่งชิ้นเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อโควิดซ้ำด้วยสายพันธุ์ BA.5 และลูกหลานตัวใหม่ๆในประชากรที่เคยติดโควิดโอมิครอนมาก่อน
เผยแพร่มาจากการเก็บข้อมูลในประเทศสวีเดน โดยทีมวิจัยจาก Lund University
โดยเก็บข้อมูลในกลุ่มประชากรที่ติดโควิดโอมิครอน BA.1 , BA.2 และ อาจจะมี BA.5 บางส่วนในประเทศ
โดยใช้ช่วงระยะเวลาในการติดครั้งล่าสุด เปรียบเทียบร้อยละของการป้องกันการติดเชื้อ BA.5 และ อื่นๆซ้ำ
ทีมวิจัยพบว่ากลุ่มที่ติดโอมิครอน BA.1 ซึ่งติดมานานกว่า 6 เดือน (ประมาณ 6.5 เดือน) มี % การป้องกันการติดเชื้อซ้ำเพียงแค่ 30%
ส่วนในกลุ่มที่ติดช่วง BA.2 เริ่มระบาด (ซึ่งอาจมี BA.1 ปนอยู่ด้วยในกลุ่มนี้) ประมาณ 6 เดือนที่ผ่านมา มี % การป้องกันอยู่ที่ประมาณ 60%
ในกลุ่มที่ติดช่วง BA.2 ระบาดและอาจมี BA.5 มาบ้างแล้ว พบว่า % การป้องกันการติดเชื้อยังสูงอยู่ในระดับที่ประมาณ 85%
การศึกษานี้ยังไม่เห็นความแตกต่างของตัวเลข % การป้องกันการติดเชื้อซ้ำในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนที่แตกต่างกัน
ซึ่งแสดงว่าวัคซีนอาจจะมีบทบาทไม่มากในการป้องกันการติดเชื้อ เหมือนที่มีข้อมูลแสดงกันออกมา
จากตัวเลขในการศึกษานี้ ทีมวิจัยเชื่อว่า ภูมิจากการติดเชื้อโอมิครอนโดยเฉพาะตั้งแต่ BA.2 เป็นต้นมา
น่าจะมีสูงพอในการป้องกันการติดเชื้อซ้ำจากสายพันธุ์ BA.5 ได้ประมาณ 5 เดือน
หลังจากนั้นตัวเลข % การป้องกันการติดเชื้อจะเริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
สาเหตุมาจากภูมิที่เริ่มลดลง และบริบทของไวรัสที่เข้ามาหมุนเวียนที่หนีภูมิจากสายพันธุ์เก่าได้เก่งขึ้น
จากข้อมูลการฉีดวัคซีนกระตุ้นที่เหมือนจะไม่ช่วยอะไรมาก และภูมิจากการติดเชื้อที่อยู่ได้นานกว่า 5 เดือน
ทีมวิจัยระบุในบทความว่า "...a booster dose seems unnecessary until 5 months after a confirmed infection" คือ
ผู้ที่หายป่วยจากโควิดมาอาจไม่จำเป็นต้องรีบไปกระตุ้น รอได้อีกสัก 5 เดือน เพื่อให้ภูมิสามารถกระตุ้นขึ้นมาได้ดีขึ้น
ซึ่งถือว่าเป็นความเห็นของทีมวิจัยจากข้อมูลที่เก็บมา ซึ่งคิดว่าอาจจะช่วยในการตัดสินใจในช่วงนี้