รู้จัก "เดลตาครอน" โควิดลูกผสมคืออะไร น่ากลัวแค่ไหน คลิกดูเลย

17 พ.ย. 2565 | 13:51 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ย. 2565 | 20:51 น.

รู้จัก "เดลตาครอน" โควิดลูกผสมคืออะไร น่ากลัวแค่ไหน คลิกดูเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยรวบรวมข้อมูลไว้ให้แล้ว

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ไวรัส Deltacron (เดลตาครอน) กลับมาพูดถึงกันอีกรอบ น่ากลัวมากน้อยเพียงใด
การที่ไวรัสโคโรนาลำดับที่เจ็ด ซึ่งก่อโรคโควิด-19 เป็นไวรัสชนิดสารพันธุกรรมเดี่ยวหรืออาร์เอ็นเอ (RNA) จึงมีการกลายพันธุ์เป็นธรรมชาติต่อเนื่องกันมาตลอดเวลา

 

ในช่วงสามปีที่มีการระบาดของโควิด พบว่ามีการกลายพันธุ์ไปทั้งสายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อย นับ 100 นับ 1000 สายพันธุ์แล้ว

 

เฉพาะ Omicron (โอมิครอน) อย่างเดียว ก็มีสายพันธุ์ย่อยมากกว่า 500 สายพันธุ์
สายพันธุ์หลักๆที่พวกเราคุ้นเคยกันดีได้แก่ สายพันธุ์อู่ฮั่น สายพันธุ์อัลฟ่า สายพันธุ์เดลต้า และสายพันธุ์โอมิครอน

 

ในช่วงปลายปี 2564 ซึ่งมีไวรัสสายพันธุ์เดลต้าระบาดเป็นหลัก และเกิดไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนขึ้นมาซ้อนทับกัน จึงทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดไวรัสลูกผสมระหว่างเดลต้ากับโอมิครอนได้

โดยในต้นเดือนมกราคม 2565 มีนักชีววิทยาชาวไซปรัสรายงานการพบเดลตาครอน (Deltacron : Delta+Omicron) เป็นครั้งแรก แต่หลังจากที่มีการตรวจสอบทางวิชาการแล้ว ก็พบว่าเป็นการปนเปื้อนทางห้องปฏิบัติการ

 

ถัดมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 หน่วยงานหลักของอังกฤษ (UKHSA : United Kingdom Health Security Agency) ก็ได้ประกาศเป็นครั้งแรกว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาครอนจริง แต่ไม่ได้มีความรุนแรงอะไร

 

หลังจากนั้นในเดือนมีนาคมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ก็มีการรายงานพบไวรัสเดลต้าครอน ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส และในสหรัฐอเมริกา

 

รู้จัก เดลตาครอน โควิดลูกผสมคืออะไร น่ากลัวแค่ไหน

ในช่วงหลัง มีข้อมูลจากสหรัฐอเมริกาหลายหลายงานด้วยกัน ที่ยืนยันการพบไวรัสเดลตาครอน

 

โดยรายงานที่หนึ่ง เป็นการตรวจตัวอย่างของผู้ติดโควิด 29,719 ราย ในช่วงพฤศจิกายน 2564 ถึงกุมภาพันธ์ 2565 พบเพียง 2 รายที่เป็นไวรัสเดลตาครอน และไม่ได้มีลักษณะที่รุนแรงแตกต่างไปจากไวรัสโอมิครอนแต่อย่างใด

 

อีกรายงาน เป็นการตรวจข้อมูลของผู้ติดเชื้อ 1.8 ล้านตัวอย่าง ตั้งแต่มกราคม 2564 โดยได้ตัดประเด็นที่เกิดจากการปนเปื้อนในห้องแลป (Laboratory Contamination) กรณีติดเชื้อสองชนิดพร้อมกัน (Co-infection) และการผิดพลาดอื่นๆ

ก็พบว่ามี "ไวรัสเดลตาครอน" บ้างประปราย และทำนองเดียวกันคืออาการก็ไม่ได้รุนแรงกว่าโอมิครอน

 

จนกระทั่งล่าสุด ในวารสารการแพทย์ NEJM ก็ได้มีจดหมายถึงบรรณาธิการ จากศูนย์การแพทย์ที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอ (Ohio State University)

 

ได้ทำการตรวจหาระดับความดื้อต่อภูมิคุ้มกันของไวรัส ระหว่างเดลต้าครอน กับโอมิครอนสายพันธุ์อื่นๆคือ BA.1 และ BA.2 ก็สรุปว่าไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญมากนัก

 

กล่าวโดยสรุป

  • ไวรัสเดลตาครอน เป็นไวรัสลูกผสมระหว่างสายพันธุ์หลักเดลต้ากับโอมิครอน
  • หลังจากที่มีการพบมา 10 เดือนแล้ว ก็ยังไม่ได้มีจำนวนที่มากมาย แปลว่าความสามารถในการแพร่ระบาดไม่มากนัก
  • การดื้อต่อภูมิต้านทาน ไม่ว่าจะเป็นจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อเองตามธรรมชาติ ก็ไม่ได้มากกว่าไวรัส โอมิครอน BA.1/BA.2