โควิด19-ไวรัส RSV-ไข้หวัดใหญ่ คล้ายกันยังไง กลุ่มไหนเสี่ยงที่สุด เช็คเลย

19 ต.ค. 2565 | 12:12 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2565 | 19:14 น.

โควิด19-ไวรัส RSV-ไข้หวัดใหญ่ คล้ายกันยังไง กลุ่มไหนเสี่ยงที่สุด เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอยงเผยมีวิธีการตรวจแบบ ATK ทำให้พบโรคมากขึ้น

โควิด19 โรคไวรัส RSV และไข้หวัดใหญ่ทั้ง 3 โรคเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ 

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีวิธีการตรวจได้ง่ายขึ้นทำให้พบโรคดังกล่าวมากขึ้น

 

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย โพสต์ข้อความว่า

 

โควิด 19   RSV  และไข้หวัดใหญ่  โรคที่คล้ายคลึงกัน

 

โรคทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส มีเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาสำคัญแต่เดิมจะเป็นไข้หวัดใหญ่กับ RSV และในสมัยก่อน เราไม่ได้ตรวจเพราะวิธีการตรวจยุ่งยากไม่เหมือนสมัยนี้ ทั้ง โควิด 19 RSV  และไข้หวัดใหญ่ มีวิธีการตรวจแบบ ATK จึงทำให้พบโรค ดังกล่าวมากขึ้น 

 

หมอยง ระบุว่า การระบาดของโรคทั้ง 3 นี้ จะอยู่ในฤดูกาลเดียวกัน เป็นโรคประจำฤดูกาล และจะมีปัญหาใน กลุ่มเสี่ยงคือเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวหรือที่เรียกว่า 608

 

RSV  เป็นโรคที่มีมาแต่โบราณ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถพัฒนาวัคซีนมาใช้ป้องกันได้ โรคนี้เป็นแล้วเป็นอีกได้ 

 

จากการศึกษาที่ศูนย์ทำอยู่ เด็กโตขึ้นมาจนถึง 5 ปี แทบจะไม่มีใครเลยที่ไม่เคยเป็น 

 

และแต่ละคนเป็นแล้วเป็นได้อีก บางคนเป็นทุกปี ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากแม่จะส่งมายังลูก 

และจะอยู่ประมาณ 6 เดือน ถึงมีภูมิต้านทานส่งต่อมาจากมารดา 
เด็กเล็กก็เป็นได้และมีอาการรุนแรง แต่ส่วนใหญ่จะพบหลังจากที่ภูมิส่งต่อจากมารดาหมดลงแล้วคือตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป 

 

ไวรัสนี้มีหลายสายพันธุ์ และจากการติดตามถึงสายพันธุ์เดียวกันก็สามารถเป็นซ้ำได้อีก 

 

ความรุนแรงจะมากในขวบปีแรกและเมื่อโตขึ้น ความรุนแรงของโรคก็จะน้อยลง เช่นเดียวกันผู้ใหญ่ก็เป็นได้แต่อาการน้อย 

 

โควิด19-ไวรัส RSV-ไข้หวัดใหญ่ คล้ายกันยังไง

 

และจะไปมีอาการมากในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผู้สูงอายุ 608  ไม่มียารักษาโดยตรงรักษาตามอาการ ส่วนใหญ่หายเป็นปกติ 
ไข้หวัดใหญ่ก็เช่นเดียวกัน มีหลายสายพันธุ์ทั้ง A และ B  ที่ระบาดอยู่ในปีนี้เป็นไข้หวัดใหญ่ A  สายพันธุ์ H3N2 เกือบทั้งหมด 

 

ที่ศูนย์เราติดตามสายพันธุ์อยู่ตลอด วัคซีนป้องกันได้แต่ประสิทธิภาพไม่สูง ฉีดวัคซีนแล้วก็เป็นได้แต่อาการจะลดลง เช่นเดียวกันกับ covid 19 

 

หมอยง บอกอีกว่า covid 19  ก็เป็นโรคประจำฤดูกาลไปแล้ว ก็จะพบในฤดูกาลเดียวกัน คือฤดูฝน 

 

และจะน้อยลงในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม และจะไปเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยในเดือนมกราคมถึงมีนาคม 

 

แล้วค่อยลดลงอีกแล้วไปเพิ่มอีกครั้งหนึ่งหลังจาก กลางเดือนมิถุนายน 

 

จากการศึกษาทั่วโลกพบว่าความรุนแรงตั้งแต่ยุค โอมิครอน  ลดลง แม้กระทั่งเกิด long covid ก็ลดลง 

การเกิด MIS-C ในเด็กก็ลดลง และความรุนแรงของ MIS-C ในเด็กก็ลดลง (จากการศึกษาในอิสราเอล) JAMA May19, 2022 เปรียบเสมือนโรคนี้กำลังปรับตัวเข้าสู่โลกประจำฤดูกาล 

 

สมัยก่อนอัตราการเสียชีวิตจากโรคในระบบทางเดินหายใจ เช่นปอดบวม ปอดอักเสบ ภาวะหายใจล้มเหลวจากการติดเชื้อเราพบได้มาก 

 

แต่เราไม่เคยแยกเชื้อว่าเกิดจากเชื้ออะไร และยังมีปอดบวมที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้ามาซ้ำเติมอีก 

 

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้การดูแลรักษาดีขึ้น อัตราการเสียชีวิตดังกล่าวลดลงอย่างมากถ้าเปรียบเทียบกับสมัยที่ผมดูแลผู้ป่วยเมื่อ 40 ปีก่อน เรารักษาปอดบวมในผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก โดยบางครั้งไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีสาเหตุจากอะไร 

 

นอกจากไวรัสที่กล่าวถึงยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ และถ้าจะตรวจให้ครบทุกตัว ก็จะเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก โดยไม่จำเป็น

 

ยกเว้นการศึกษาวิจัย เพื่อให้ทราบว่าขณะนี้อะไรกำลังระบาดอยู่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราที่เราทำอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว