โควิด19 ยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่ทั่วโลก แม้แต่ประเทศไทยที่ถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนเป็นโรคที่ติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา
น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ไม่น่าเชื่อ !! เกือบครึ่งหนึ่งของคนอเมริกัน โกหกหรือไม่พูดความจริงเรื่องโควิด-19 ของตนเอง
เราคงเคยได้ยินการพูดคุยกันถึงเรื่องเกี่ยวกับโควิด-19 ว่า บางคนที่สงสัยว่าตนเองจะติดโควิด แต่ไม่ยอมตรวจ เพราะกลัวว่าจะติดจริงๆ
หรือตรวจว่าติดโควิดแล้ว แต่ไม่มีอาการ ก็เลยไปทำงานโดยไม่กักตัว และไม่ยอมบอกคนที่ทำงาน
จนกระทั่งติดโควิดมีอาการเล็กน้อย แต่ก็ยังไปร่วมงานในสถานที่สาธารณะหรือเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะที่มีคนแออัด
ทุกคนเชื่อว่าเรื่องเหล่านี้มีอยู่จริง แต่ที่น่าสนใจคือ มีคนที่ทำตัวลักษณะแบบนี้อยู่มากน้อยเพียงใด
อย่างน้อยในวันนี้ เรามีคำตอบจากการศึกษาของคนอเมริกัน ซึ่งได้มีรายงานการศึกษาในประเด็นว่า คนอเมริกันพูดความจริงมากน้อยแค่ไหนเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19
โดยกลุ่มนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนนำมาเผยแพร่ใน JAMA Network Open และมี Dr.F.Perry Wilson ของ Yale School of Medicine นำมาคอมเม้นต์ด้วย
โดยรายงานการศึกษาดังกล่าวเป็นการสำรวจสอบถามทางออนไลน์จำนวน 2260 คน ในช่วงวันที่ 8-23 ธันวาคม 2564 ได้รับความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามเบื้องต้น 1811 คน หรือ 80.1%
และเมื่อข้อมูลสรุปสุดท้าย จะอยู่ที่ 1733 คน โดยมีอายุเฉลี่ย 41 ปี เป็นผู้หญิง 66% และเป็นคนผิวขาว 66.4%
โดยประเด็นของการสอบถามนั้น เพื่อพิสูจน์ความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องคำตอบ ว่ามีความจริงมากน้อยเพียงใด ต่อคำถามทำนองว่า
ท่านเคยติด "โควิด" แต่ไม่ได้บอกคนที่อยู่ใกล้ชิดบ้างหรือไม่ ?
ท่านเคยบอกคนอื่นๆว่า ท่านมีวินัยป้องกันตัวเองจากโควิดในระดับมากกว่าสิ่งที่ท่านปฏิบัติจริง หรือไม่ ?
ท่านเคยบอกว่าตัวเองฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว ทั้งที่ไม่ได้ฉีดจริงหรือไม่ ?
ท่านพยายามหลีกเลี่ยงไม่ยอมทดสอบการหาโรคโควิด ไม่ว่าจะเป็นเอทีเคหรือพีซีอาร์ ทั้งที่ตัวท่านเองก็คิดว่าอาจจะเป็นโควิดบ้างหรือไม่ ?
หมอเฉลิมชัย บอกอีกว่า การศึกษาดังกล่าวนี้ ทำให้ได้ความจริงในกลุ่มคนดังกล่าวว่า
คนอเมริกันเกือบครึ่งหนึ่งหรือ 41.6% ไม่ยอมพูดความจริงคือโกหก หรือไม่ยอมให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับโควิดที่ตนเองประสบอยู่ อย่างน้อยในประเด็นใดประเด็นหนึ่งใน 9 ประเด็น
โดยกลุ่มอาสาสมัครนั้น
ในผู้ที่ไม่พูดความจริงหรือไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นจริง ประกอบด้วย
20% ของคนที่ติดโควิด ไม่ได้บอกกับคนที่ตนเองจะต้องไปพบปะใกล้ชิดว่าตนเองติดโควิด
20% ของคนที่ติดโควิด ไม่ได้แจ้งให้ผู้รับผิดชอบในสถานที่สาธารณะที่ตนเองออกไปได้รับทราบ
20% ของคนที่ติดโควิด ไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ เวลาไปพบบุคลากรทางสาธารณสุข
ที่น่าแปลกใจคือ 15% ของคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว โกหกว่าตนเองยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
17% ของคนที่ควรกักตัว โกหกว่าตนเองไม่ได้มีความจำเป็นต้องกักตัว
และมีอีกจำนวนพอสมควรที่ละเมิดกฎเกณฑ์การกักตัว ในระหว่างที่ตนเองต้องกักตัว
หลังจากที่ได้ข้อมูลที่น่าสนใจดังกล่าว ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาหาปัจจัยสำคัญว่า ปัจจัยอะไรบ้างที่จะมีผลทำให้คนโกหกมากเป็นพิเศษ เช่น เพศ ระดับการศึกษา เชื้อชาติ ความคิดเห็นทางการเมือง แหล่งข้อมูลที่ตนเองได้รับเกี่ยวกับเรื่องโควิด ตลอดจนความเชื่อทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับโควิดว่าไม่มีอยู่จริง
ผลคือ พบว่าปัจจัยต่างๆดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับการที่คนคนนั้น จะโกหกหรือพูดความจริง
พบเพียงปัจจัยเดียวที่มีผลทำให้คนพูดความจริงก็คือ การที่มีวัยสูงอายุ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คนที่อายุน้อย จะมีเปอร์เซ็นต์ของการพูดเท็จหรือโกหกเรื่องโควิดสูงมากกว่าคนที่มีอายุมาก
ทั้งนี้คาดว่า น่าจะเป็นจากผู้สูงอายุจะมีความจริงจังเกี่ยวกับโรคโควิด ตลอดจนมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงมากกว่า
หมอเฉลิมชัย บอกอีกว่า จากการพยายามวิเคราะห์หาเหตุผลต่อไปว่า ในกลุ่มที่พูดไม่จริงหรือโกหกนั้น มีเหตุผลอะไรบ้าง
พบว่า
รายงานการศึกษาดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกามีความวิตกกังวลว่า ประสิทธิผลของมาตรการต่างๆตามที่สาธารณสุขประกาศหรือแนะนำให้พลเมืองของตนเองร่วมมือกันเพื่อควบคุมไม่ให้โควิดระบาดนั้น
จะมีประสิทธิผลหรือประสิทธิภาพลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะมีผู้ที่ไม่พูดความจริงหรือโกหกในประเด็นต่างๆ
สำหรับประเทศไทยเรา ไม่ทราบว่าจำนวนคนที่ไม่พูดความจริงมีมากหรือน้อยกว่าคนอเมริกัน ถ้ามีการทำวิจัยออกมา ก็คงจะเป็นรายงานที่น่าสนใจมากทีเดียว