"ฟาวิพิราเวียร์"ไม่ช่วยลดเชื้อโควิด ให้ผลไม่ต่างจากยาหลอก แนะเลิกใช้

09 ก.ย. 2565 | 07:11 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2565 | 07:48 น.
1.4 k

"ฟาวิพิราเวียร์"ไม่ช่วยลดเชื้อโควิด ให้ผลไม่ต่างจากยาหลอก แนะเลิกใช้ หมอมนูญเผยข้อมูลวิจัยตีพิมพ์ลงในวารสาร Clinical Infectious Diseases

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า 

 

เราทราบจากสื่อต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 ผลการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมเปรียบเทียบยาฟาวิพิราเวียร์กับยาหลอกที่ทำในประเทศสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก 

 

และบราซิลสร้างความผิดหวังให้กับบริษัทยาของญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ยาตัวนี้  

 

ในที่สุดผลงานวิจัยนี้เพิ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Clinical Infectious Diseases เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 

 

การศึกษาทำในช่วงพฤศจิกายน 2563-ตุลาคม 2564 เป็นการศึกษาขนาดใหญ่ในคนติดเชื้อไวรัสโควิด 1187 ราย 
 

อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (ชาวอเมริกัน 963 คน เม็กซิกัน 163 คน บราซิล 65 คน) 

 

โดยให้ยาภายใน 5 วันหลังเริ่มมีอาการ ให้ยาทั้งหมด 10 วัน 599 คนรับยาฟาวิพิราเวียร์ 588 คนรับยาหลอก

 

ผลการศึกษาพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่แตกต่างจากยาหลอก ไม่ช่วยทำให้อาการของโรคโควิดดีขึ้น 

 

ไม่ลดความรุนแรงของโรค ไม่ลดการป่วยหนักเข้านอนในโรงพยาบาล ไม่ลดจำนวนไวรัสในร่างกาย 

 

"ฟาวิพิราเวียร์"ไม่ช่วยลดเชื้อโควิด

 

แต่คนที่กินยาฟาวิพิราเวียร์ มีกรดยูริกสูงขึ้นถึง 19.9% เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก 2.8%

 

ในการศึกษานี้พูดถึงประเทศที่ยังใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ มีประเทศรัสเซีย อินโดนีเซีย ดูไบ และประเทศไทยรวมอยู่ด้วย

 

บทสรุปของการศึกษานี้ ไม่ควรนำยาฟาวิพิราเวียร์มาใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 
 

ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรหยุดใช้ยา "ฟาวิพิราเวียร์" ในการรักษาโรคโควิด-19  

 

ยาโมลนูพิราเวียร์ปัจจุบันราคาไม่แพงกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ ประเทศเพื่อนบ้านของเราเลิกใช้ยาฟาวิพิราเวียร์นานแล้ว 

 

และเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์และแพ็กซ์โลวิดซึ่งมีหลักฐานพิสูจน์ลดความรุนแรงของโรค ลดการเข้านอนในโรงพยาบาล 

 

องค์การเภสัชกรรมควรเลิกผลิต นำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ และไม่ควรส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้ร้านขายยาและโรงพยาบาลอีกต่อไป