วัคซีนโควิดตัวแรกของโลกชนิดพ่นจมูกอนุมัติใช้แล้ว

08 ก.ย. 2565 | 07:11 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2565 | 17:10 น.
1.0 k

วัคซีนโควิดตัวแรกของโลกชนิดพ่นจมูกอนุมัติใช้แล้ว มีข้อดียังไง อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หลังทางการอินเดียโดยหน่วยงานควบคุมการใช้ยาของอินเดียให้ใช้แบบฉุกเฉิน

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ตามมาติดติด !! วัคซีนโควิดชนิดพ่นจมูกตัวแรกของโลก ได้รับการอนุมัติแล้วโดยทางการอินเดีย ตามหลังประเทศจีนซึ่งอนุมัติวัคซีนโควิดชนิดสูดทางปาก

 

หลังจากที่ประเทศจีนได้อนุมัติวัคซีนโควิดชนิดพ่นเป็นฝอยละออง (Aerosal) แล้วสูดดมทางปาก (Inhaled) เป็นรายแรกของโลกไปแล้ว โดยบริษัท CansinoBIO เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน 2565

 

ในวันนี้ อินเดียก็ได้อนุมัติวัคซีนชนิดพ่นทางจมูก (Nasal spray) โดยหน่วยงานควบคุมการใช้ยาของอินเดีย แบบการใช้ชนิดฉุกเฉิน (EUA)

 

วัคซีนดังกล่าวผลิตโดยบริษัท Bharat Biotech ซึ่งได้ซื้อลิขสิทธิ์มาจากมหาวิทยาลัย Washington in St.Louis ในสหรัฐอเมริกา

แล้วนำมาผลิต โดยเป็นเทคโนโลยีไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector) ใช้ไวรัสก่อโรคหวัดในลิงชิมแปนซีเป็นตัวพาโปรตีนหนามเข้าไปกระตุ้นให้มนุษย์สร้างภูมิคุ้มกัน

 

ทำนองเดียวกับวัคซีนของบริษัท AstraZeneca

 

การศึกษาเฟสที่ 3 ใช้อาสาสมัคร 3100  คนที่พ่นจมูก 2 ครั้ง 

 

และมีอีก 875 คนที่เคยฉีดวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม มาพ่นจมูกเป็นการกระตุ้นครั้งที่ 3

 

วัคซีนโควิดตัวแรกของโลกชนิดพ่นจมูกอนุมัติใช้แล้ว

 

พบว่ามีทั้งความปลอดภัย(Safety) และประสิทธิผล(Efficacy) ในการป้องกันโรคได้ดี แนะนำให้ใช้ในคนที่อายุเกิน 18 ปีขึ้นไป

 

ข้อดีของวัคซีนโควิดที่พ่นทางจมูกก็คือ

 

  • เหมาะกับคนที่กลัวเข็มฉีดยา ทำให้ได้รับความร่วมมือในการรับวัคซีนเพิ่มมากขึ้น
  • ไม่ต้องใช้บุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ทำให้มีข้อจำกัดต้องไปรับวัคซีนที่สถานพยาบาล
  • วัคซีนชนิดพ่นจมูก จะสามารถสร้างภูมิต้านทานในเยื่อบุจมูกหรือทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไวรัสเข้าโจมตีมนุษย์เป็นจุดแรก จึงป้องกันการติดเชื้อได้ดีมากกว่าการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันที่ส่วนใหญ่จะไปอยู่ในกระแสเลือด

 

ขณะนี้มีหลายประเทศที่กำลังวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิดพ่นจมูกแล้ว เช่นกันก็มีหลายประเทศที่กำลังวิจัยพัฒนาชนิดสูดทางปาก

 

ประเทศไทยก็กำลังทดลองวัคซีนโควิดชนิดพ่นจมูกในมนุษย์แล้วด้วยเช่นกัน