6 สัญญาณ ภาวะ MIS-C ในเด็ก ที่ผู้ปกครองต้องสังเกต

23 ก.ค. 2565 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2565 | 06:57 น.
1.3 k

ภาวะ MIS-C ในเด็ก แม้จะพบได้น้อย แต่ก็เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง มีอันตรายถึงชีวิต มี 6 สัญญาณ ภาวะ MIS-C ในเด็ก ที่ผู้ปกครองจำเป็นต้องสังเกต

ภาวะ MIS-C เป็นภาวะที่ต้องให้ความสำคัญหลังจากที่เด็กๆ หากป่วยจากการโควิด-19 แล้ว เพราะเป็นกลุ่มอาการที่ต้องเฝ้าระวัง กลุ่มโรคที่เกิดจากการมีภาวะการอักเสบในระบบต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบหัวใจ ปอด ไต สมอง ผิวหนัง ตา และทางเดินอาหาร  

แม้จะพบได้น้อย แต่ก็เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต แต่หากได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยมักตอบสนองต่อการรักษาและหายดีได้

6 สัญญาณของอาการแสดงที่ผู้ปกครองต้องสังเกต

สามารถพบอาการแสดงได้ ตั้งแต่เริ่มหายจากโรค หรือตามหลังการติดเชื้อประมาณ 2-6 สัปดาห์ โดยมีอาการที่ต้องสังเกต ดังนี้

  • มีไข้ 38 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง 
  • อาการระบบหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จะมาด้วยอาการเหนื่อยง่าย หายใจแรง เหงื่อออก ใจสั่น หน้ามืดวิงเวียน
  • อาการทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง
  • อาการทางเดินหายใจ เช่น เจ็บคอ ไอ
  • มีการอักเสบของเยื่อบุต่างๆ เช่น ตาแดง ผื่น
  • มีอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ชัก สับสน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

 

แนวทางการดูแลเด็กๆ หลังติดโควิด

  • สังเกตอาการของโรค MIS-C หรือรีบมาพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ
  • ล้างมือบ่อยๆ ให้ใส่หน้ากากอนามัยในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป
  • เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป ที่มีประวัติติดโควิด ให้ฉีดวัคซีนหลังติดเชื้อ 12 สัปดาห์ นับจากวันที่เริ่มมีอาการป่วยวันแรก หรือในกลุ่มที่ไม่มีอาการนับจากวันที่ RT-PCR หรือ ATK positiveโดยกลุ่มที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน Covid-19 แนะนำ 2 เข็ม ห่างกัน 8-12 สัปดาห์
  • กลุ่มที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้ว 1 เข็ม แนะนำให้กระตุ้นเพิ่ม 1 เข็ม(ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนเพิ่ม หากเคยได้รับวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม)
  • เด็กที่ได้รับวัคซีนโควิดครบ 2 เข็ม จะช่วยลดโอกาสเกิด MIS-C หรือลดความรุนแรงของภาวะ MIS-C ทั้งอัตราการนอนโรงพยาบาล และการใส่ท่อช่วยหายใจ
  • สามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติ หลังจากพ้นระยะแพร่เชื้อ หรือกักตัวครบตามที่แพทย์แนะนำ
  • แม้จะเคยติดโควิดมาแล้ว ก็สามารถติดเชื้อซ้ำได้ เนื่องจากเชื้อมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา
  • หลังจากหายป่วยสามารถรับวัคซีนตามวัย ได้ตามปกติ

 

ข้อมูล : โรงพยาบาลพญาไท