ภาวะ MIS-C (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children (MIS-C)
- กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบที่เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังเด็กหายจากการติดเชื้อโควิด-19
- เริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ระยะหายจากโรคจนถึงหลังติดเชื้อ 2 – 6 สัปดาห์
- สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้มากเกินไป
- กลุ่มอาการ MIS-C (มิสซี) เริ่มมีการรายงานครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ที่ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นมีรายงานที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
- ส่วนใหญ่พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง พบได้ในเด็กทุกกลุ่มอายุ อายุโดยเฉลี่ย 8-10 ปี อุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 0.03 ของผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิดทั้งหมด
- เด็กมักจะมีอาการไข้สูง ผื่น ปากแดง ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต อาเจียน ถ่ายเหลว บางรายมีหอบเหนื่อย ปอดอักเสบ และมีภาวะช็อคจากการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ
- ผู้ป่วยเด็กมากกว่าร้อยละ 50 จำเป็นต้องรักษาในหอผู้ป่วยเด็กวิกฤตเนื่องจากภาวะช็อค
- ภาวะนี้มีอันตรายถึงชีวิตได้ อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3
- สามารถรักษาด้วยการให้อิมมูโนกลอบูลินและสเตียรอยด์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักตอบสนองต่อการรักษาดี
ภาวะ MIS-C มีอาการที่ต้องสังเกต
- หายใจเร็ว
- เหนื่อย
- ซึม
- ตัวเย็น เรียกไม่รู้สึกตัว
- หลังมีการติดเชื้อโควิด 19 แนะนำให้ผู้ปกครองรีบพาเด็กไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม
ภาวะ Long COVID
- นิยามองค์การอนามัยโลก ประกาศ ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2564 ระบุว่า เป็นอาการผิดปกติเกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่องภายหลังการติดเชื้อโควิด-19
- ส่วนมากตั้งแต่ 3 เดือนนับจากวันตรวจพบเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน โดยอาการเกิดขึ้นได้หลายระบบอย่างต่อเนื่อง หลังได้รับติดเชื้อ
- ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ ยังไม่แน่ชัดมีข้อสังเกตที่พบในหลายๆ การศึกษา อาทิ เพศหญิง อายุมาก ภาวะอ้วน มีโรคประจำตัว มีอาการมากกว่า 5 อาการในช่วง 1 สัปดาห์แรก ของการเจ็บป่วย และความรุนแรงของโรคมากในระยะแรกเป็นต้น
- ความชุกของอาการผิดปกติต่างๆ ในภาวะ Long COVID จากผลการศึกษาในต่างประเทศ พบหลากหลาย ตั้งแต่ร้อยละ 14-64 เนื่องจากมีความไม่ชัดเจนของนิยาม ขาดองค์ความรู้ด้านพยาธิสภาพ ปัจจัยเสี่ยง และ การวินิจฉัย รวมทั้งวิธีการประเมินอาการผิดปกติที่แตกต่างกัน
ความรุนแรงของโรคโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่น
- ความชุกของเคสลองโควิดในเด็กค่อนข้างหลากหลายในแต่ละประเทศ พบตั้งแต่ 12-51% ขึ้นกับช่วงอายุ
- มีรายงานการศึกษาขนาดใหญ่ฉบับหนึ่งในยุโรป ได้สรุปอาการลองโควิดในเด็กที่เคยติดเชื้อ SARS COV-2 เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ติดเชื้อ โดยอาการที่พบบ่อยที่สุด แบ่งออกเป็นกลุ่มได้ ดังนี้
- กลุ่มก่อนวัยเรียน (0-5 ปี) อาการที่พบได้บ่อยได้แก่ อาการเหนื่อยล้า สูญเสียการรับกลิ่นและรสชาติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- กลุ่มวัยเรียน (6-17 ปี) อาการที่พบได้บ่อยได้แก่ สูญเสียการรับกลิ่นและรสชาติ อาการเหนื่อยล้า
- ยังมีอาการ เวียนศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการเจ็บหน้าอก และปัญหาระบบทางเดินหายใจ โดยส่วนใหญ่อาการลองโควิดในเด็กจะดีขึ้น ภายใน 1-5 เดือน
ข้อมูล : กรมการแพทย์ , สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี , โรงพยาบาลนครธน