กทม. เตรียมขยายเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19

22 ก.ค. 2565 | 14:00 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2565 | 21:04 น.

กทม. เตรียมขยายเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 เปิดศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ให้บริการวันเสาร์ ช่วงเช้าตรวจรักษาโรคโควิด-19 แบบเจอ-แจก-จบ ช่วงบ่ายให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบ Walk-in

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 65 นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 7/2565 โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนัก และผู้อำนวยการเขต ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า
 

 

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับให้สำนักงานเขตเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ฝนตกหนัก ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมขังและรอการระบายในหลายพื้นที่ และจัดเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชน ในการเดินทาง โดยให้สำนักงานเขต สำนักเทศกิจ และกองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง อำนวยความสะดวกและจัดรถช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่แค่เขตตนเอง แต่ให้ช่วยเหลือเขตใกล้เคียงด้วย พร้อมทั้งเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ และวิทยุสื่อสารให้พร้อม ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ในที่ประชุม สำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย ได้รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในส่วนของสถานการณ์เตียงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ของโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ โรงพยาบาลรัฐนอกสังกัดสำนักการแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชน ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ค. 65 เวลา 12.00 น. มีเตียงทั้งหมด 5,763 เตียง ครองเตียง 2,737 เตียง คิดเป็นร้อยละ 47.49 โดยมีอัตราการครองเตียงสำนักการแพทย์ จำนวน 1,090 เตียง แบ่งเป็น โรงพยาบาลหลัก 390 เตียง และโรงพยาบาลสนาม 700 เตียง 
 

กรุงเทพมหานครมีแผนการขยายศักยภาพเตียง แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 การเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลสนาม โดยเปิดให้บริการโรงพยาบาลเอราวัณ 1 จำนวน 100 เตียง โรงพยาบาลเอราวัณ 2 เพิ่มเตียงจำนวน 200 เตียง และโรงพยาบาลเอราวัณ 3 อยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มเตียงจำนวน 142 เตียง และระยะที่ 2 การเปิดศูนย์พักคอยที่ Standby สามารถเปิดให้บริการโดยต้องมีการปรับปรุงพื้นที่และอุปกรณ์ 4 แห่ง จำนวน 316 เตียง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ รวมเตียงที่สามารถเพิ่มศักยภาพได้ทั้งหมด 758 เตียง

 

ด้านสำนักการศึกษา ได้รายงานข้อมูลการติดเชื้อโควิด-19 ของนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 431 โรงเรียน ข้อมูลระหว่างวันที่ 17 พ.ค. – 19 ก.ค. 65 จำนวนนักเรียนทั้งหมด 253,515 คน มีนักเรียนที่ติดเชื้อสะสม จำนวน 2,671 คน เฉลี่ยติดเชื้อวันละ 65 คน คิดเป็นร้อยละ 0.03 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด แบ่งเป็น ระดับอนุบาล ทั้งหมด 36,854 คน ติดเชื้อ 187 คน คิดเป็นร้อยละ 0.51  ระดับประถมศึกษา ทั้งหมด 176,496 คน ติดเชื้อ 1,949 คน คิดเป็นร้อยละ 1.10  ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทั้งหมด 35,706 คน ติดเชื้อ 465 คน คิดเป็นร้อยละ 1.3  และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งหมด 4,459 คน ติดเชื้อ 70 คน คิดเป็นร้อยละ 1.57

 

จากการสำรวจนักเรียนที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 998 คน ข้อมูลระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. – 19 ก.ค. 65 พบว่าสถานที่รับเชื้อโควิด ได้แก่ บ้าน/ครอบครัว 656 คน โรงเรียน 144 คน และสถานที่อื่น ๆ 198 คน โดยโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการตรวจ ATK ร้อยเปอร์เซ็นต์ หลังวันหยุดยาว เพื่อคัดกรองนักเรียนและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ทุกโรงเรียนได้ดำเนินการมาตรการสร้างความปลอดภัยป้องกันโควิด-19 ในสถานศึกษา 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม 7 มาตรการเข้มข้น

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำให้ทุกสำนักงานเขตเชิญชวนประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อ และลดความรุนแรงจากการป่วยหนักหรือเสียชีวิต ซึ่งสามารถรับบริการฉีดวัคซีนได้ที่ ศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรุงเทพมหานคร อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง  สถานีกลางบางซื่อ  โรงพยาบาลที่ไปรับบริการ/มีประวัติการรักษา  โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง  โรงพยาบาลสังกัดอื่น ๆ 8 แห่ง  ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง  สำหรับกลุ่ม 608 จะมีหน่วยบริการเชิงรุกในชุมชน (CCRT) และให้บริการฉีดถึงบ้านสำหรับผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง และผู้พิการ ด้วย 

 

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 69 แห่ง ยังได้ขยายเวลาการให้บริการเพิ่มในวันเสาร์ สำหรับประชาชนที่ไม่สามารถเข้ารับบริการในวันและเวลาราชการตามปกติได้ โดยในช่วงเช้า เวลา 08.00 - 12.00 น. เปิดให้บริการตรวจรักษาโรคโควิด-19 แบบเจอ-แจก-จบ และในช่วงบ่าย เวลา 13.00 - 16.00 น. ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบ Walk-in เพิ่มจากวันศุกร์ด้วย