นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันเริ่มพบการแพร่ระบาดของ "บุหรี่ซอมบี้" พบการลักลอบจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์และในสถานที่รวมกลุ่มต่าง ๆ โดยมักอ้างสรรพคุณว่า ทำให้ผ่อนคลายและนอนหลับสบาย
"บุหรี่ซอมบี้" คือ บุหรี่ไฟฟ้าที่มีการผสมสาร Etomidate ลงไปเพื่อให้ออกฤทธิ์เหมือนยาเสพติด บุหรี่ไฟฟ้ามีผลกระทบกับสุขภาพผู้สูบมากมาย ยิ่งมีการผสมยาและสารต่าง ๆ ลงไปยิ่งอันตรายเพิ่มมากขึ้น
ขอเตือนกลุ่มวัยรุ่นรวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่คิดจะทดลองใช้ "บุหรี่ซอมบี้" หรือ บุหรี่ไฟฟ้าที่มีการผสมยาและสารต่าง ๆ ลงไป ให้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นให้มากซึ่งร้ายแรงที่สุดอาจทำให้เสียชีวิตได้และไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ผู้ขายตั้งใจผสมสารชนิดใดลงไป มากน้อยเพียงใด อย่าหลงเชื่อคำชักชวนว่า ปลอดภัยหรือลองแค่ครั้งเดียว ไม่เป็นไร
ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมบุตรหลานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการใช้จ่ายเงินที่มากขึ้น มีอาการง่วงซึมผิดปกติ การเปลี่ยนแปลงของกลุ่มเพื่อน การเก็บตัวหรือหลบซ่อนในห้อง หากพบพฤติกรรมเหล่านี้ต้องรีบเข้าไปพูดคุย ด้วยความรักและความเข้าใจ บอกกล่าวถึงอันตรายที่จะตามมา
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สาร Etomidate เป็นยานำสลบที่ใช้ในทางการแพทย์ ออกฤทธิ์กดประสาท เมื่อนำมาผสมในบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้ผู้สูบมีอาการง่วงซึมอย่างรุนแรง อัตราการหายใจลดลง หรือเกิดภาวะหายใจช้าลงจนเป็นอันตราย ความดันโลหิตต่ำ คลื่นไส้อาเจียนสับสน หมดสติ
การนำสาร Etomidate มาผสมในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก เพราะไม่สามารถควบคุมปริมาณการผสมได้ ถ้าสูดดมในปริมาณมาก อาจนำไปสู่การหายใจลำบากหรือภาวะขาดออกซิเจนได้ ทำให้หมดสติ หยุดหายใจ
นอกจากนี้ยังเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว การสูดดมสาร Etomidate สามารถส่งผลให้ระบบการทำงานของหัวใจไม่เป็นปกติ โดยเฉพาะในกรณีที่มีปัญหาหรือโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงและเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ แม้จะมีการเลิกสูบไปแล้วแต่ยังส่งผลในระยะยาวต่อฮอร์โมนที่ต่อมหมวกไต ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้าง ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ส่งผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ
หากประสบปัญหาเรื่องยาและสารเสพติด รวมถึงสุราและบุหรี่ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และรพ.ธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ รพ.ธัญญารักษ์เชียงใหม่ รพ.ธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น รพ.ธัญญารักษ์อุดรธานี รพ.ธัญญารักษ์สงขลา รพ.ธัญญารักษ์ปัตตานี หรือ รพ.ของรัฐทุกแห่ง