เงินอุดหนุนบุตร เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยผู้พิการ โอนเข้าบัญชีวันนี้ 10 ก.พ. 68

10 ก.พ. 2568 | 02:00 น.
5.0 k

เงินอุดหนุนบุตร เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการ โอนเข้าบัญชีวันนี้ 10 กุมภาพันธ์ 2568 พร้อมแนะช่องทางลงทะเบียน สมัครขอรับเงินเยียวยากลุ่มเปราะบางที่นี่

วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 วันนี้กลุ่มเปราะบาง อันประกอบไปด้วย เด็กแรกเกิด-6 ขวบ ,ผู้สูงอายุ และผู้พิการ จะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยางวดประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยกรมบัญชีกลางจะโอนเงินเข้าบัญชีที่ผู้มีสิทธิได้แจ้งไว้  ทั้งนี้สามารถตรวจสอบว่าแต่ละกลุ่มจะได้รับเงินกี่บาทได้ดังต่อไปนี้

เงินอุดหนุนบุตร

  • เด็กแรกเกิด-อายุ 6 ขวบ  รับเงินอุดหนุนบุตรจำนวน  600 บาท
  • เด็กที่เกิดเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลืองวดประจำเดือนนี้ เนื่องจากอายุครบ 6 ขวบตามเงื่อนไข 
  • เด็กที่เกิดเดือนมีนาคม 2562 จะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นงวดสุดท้ายในเดือนนี้ 


เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (จ่ายเป็นขั้นบันได)

  • ผู้สูงอายุอายุ 60-69 ปี รับเบี้ยยังชีพจำนวน  600 บาท
  • ผู้สูงอายุอายุ 70-79 ปี รับเบี้ยยังชีพจำนวน  700 บาท
  • ผู้สูงอายุอายุ 80-89 ปี รับเบี้ยยังชีพจำนวน   800 บาท
  • ผู้สูงอายุอายุ 90 ปีขึ้นไป รับเบี้ยยังชีพจำนวน   1,000 บาท

 
เบี้ยผู้พิการ

  • ผู้พิการที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป รับเบี้ยยังชีพจำนวน   800 บาท
  • ผู้พิการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี รับเบี้ยยังชีพจำนวน 1,000 บาท

สำหรับประชาชนที่ต้องการลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิเงินช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเปราะบาง จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สามารถตรวจสอบรายละเอียดเงื่อนไขได้ดังต่อไปนี้

เงินอุดหนุนบุตร เดือนละ 600 บาท 

ผู้ปกครองที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และเด็กมีสัญชาติไทย พ่อ แม่ ผู้ปกครองสามารถยื่นคำร้องในพื้นที่ที่เด็กแรกเกิดและผู้ปกครองอาศัยอยู่จริง (ไม่จำเป็นต้องเป็นที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน) ดังนี้

  • กรุงเทพมหานคร ลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขต
  • เมืองพัทยา ลงทะเบียนได้ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา
  • ส่วนภูมิภาค ลงทะเบียนได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาล

ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “เงินเด็ก” ทั้งนี้ผู้ปกครองต้องพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่าน แอปพลิเคชัน ThaiD ของกรมการปกครองก่อน เมื่อตรวจสอบสิทธิผ่านแล้ว จะได้รับเงินมีผล ตั้งแต่เดือนที่ลงทะเบียนรับเงิน

สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงินอุดหนุนบุตร 

  • ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด กรมกิจการเด็กและเยาวชน โทร 0 2651 6902, 0 2651 6534, 08 2091 7245, 08 2037 9767, 08 3431 3533, 06 5731 3199 
  • สายด่วน 1300 ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ตลอด 24 ชั่วโมง


ช่องทางตรวจสอบเงินอุดหนุนบุตร 

  • เว็บไซต์กรมกิจการเด็กและเยาวชน http://csgcheck.dcy.go.th
  • แอปพลิเคชัน “เงินเด็ก”
  • แอปพลิเคชัน "ทางรัฐ"

เงินอุดหนุนบุตร
 

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 ,700,800 และ 1,000 บาท

คุณสมบัติของผู้สูงอายุที่สามารถสมัครรับเบี้ยยังชีพมีดังนี้

  • มีสัญชาติไทย
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • มีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิของรับเบี้ยผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด

หลักฐานประกอบการลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 

  • บัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานรัฐที่มีรูปถ่าย
  • ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน(ที่เป็นปัจจุบัน)
  • สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารในนามผู้มีสิทธิ / ผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิ (สำหรับกรณีประสงค์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านทางธนาคาร)
  • ในกรณีที่ผู้สูงอายุไม่สามารถมาลงทะเบียนเองได้ สามารถมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำร้องขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทนได้ 

ระยะเวลาลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 

  • เปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
  • กรณีผู้สูงอายุที่มีอายุ 59 ปี สามารถลงทะเบียนตั้งแต่ ต.ค.-พ.ย.และเดือน ม.ค. -ก.ย. โดยจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในเดือนถัดไป เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ 
  • กรณีผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและยังไม่เคยลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพสามารถลงทะเบียนตั้งแต่ ต.ค.  - พ.ย.  และ ม.ค. - ก.ย.และจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตั้งแต่ต.ค.เป็นต้นไป

ช่องทางลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สามารถติดต่อได้ที่ 

  • กรุงเทพมหานคร ลงทะเบียนที่สํานักงานเขต 
  • ส่วนภูมิภาค ลงทะเบียนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ผู้สูงอายุมีภูมิลำเนา

 

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 ,700,800 และ 1,000 บาท

 

เบี้ยผู้พิการ เดือนละ 800 และ 1,000 บาท

ผู้พิการที่จะขอรับเบี้ยความพิการได้นั้น จะต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการก่อน ทั้งนี้ผู้พิการที่ต้องการสมัครบัตรประจำตัวคนพิการ สามารถตรวจสอบเงื่อนไข - ขั้นตอน -ช่องทางการสมัครได้ดังต่อไปนี้


คุณสมบัติของคนพิการที่ยื่นคำขอ 

  • เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทย

สถานที่ให้บริการออกบัตรประจำตัวคนพิการ

กรุงเทพมหานคร

  • ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร ณ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
  • โรงพยาบาลสิรินธร
  • โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
  • สถาบันราชานุกูล
  • โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
  • โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)
  • ศูนย์บริการคนพิการสายไหม เคหะเอื้ออาทรสายไหม
  • สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก)
  • ศูนย์บริการคนพิการประจำจังหวัด

 

สถานที่ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ

กรุงเทพมหานคร

  • ฝ่ายสังคมสงเคราะห์งานเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลศิริราช
  • ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี
  • โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

ต่างจังหวัด

  • โรงพยาบาลประจำจังหวัด/อำเภอ ที่มีศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในโรงพยาบาล
  • องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • หรือหน่วยงานของรัฐอื่นตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศกำหนด

 

เอกสารหลักฐานประกอบการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ

  • บัตรประจําตัวประชาชน
  • ทะเบียนบ้านของคนพิการ 
  • รูปถ่ายคนพิการ ขนาด 1 นิ้ว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 2 รูป 
  • เอกสารรับรองความพิการ 

เอกสารหลักฐานของผู้ดูแลคนพิการ (เป็นผู้ซี่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันกับคนพิการ หรือเป็นผู้ดูแลคนพิการซี่งคนพิการอาศัยอยู่ด้วยตามความเป็นจริง)

  • บัตรประชาชนของผู้ดูแลคนพิการ 
  • ทะเบียนบ้านของผู้ดูแลคนพิการ 

ขั้นตอนการทำบัตร

  • ยื่นคำร้อง 
  • ตรวจสอบหลักฐาน / ข้อเท็จจริง
  • ถ่ายรูป
  • ตรวจสอบความถูกต้อง
  • มอบบัตรให้คนพิการ

  ขั้นตอนการทำบัตรคนพิการ