สปสช. ย้ำผู้ป่วยโควิด รับบริการแบบพบแพทย์ออนไลน์ต้องไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง

16 ก.ค. 2565 | 15:36 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2565 | 22:44 น.

สปสช.ชี้บริการพบแพทย์ออนไลน์ผู้ติดเชื้อโควิด สิทธิบัตรทอง เป็นทางเลือกสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนในการระบาดระลอกใหม่ ย้ำต้องเป็นกลุ่มอาการสีเขียวอายุ 15-60 ปี ไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น อ้วน ตั้งครรภ์ มีโรคประจำตัว ฯลฯ หากตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ลงทะเบียนเข้ารับบริการได้ทันที

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่เมื่อเร็วๆนี้ สปสช.ได้ร่วมมือกับ 2 ผู้ให้บริการดิจิทัล เฮลท์ คือ  แอปพลิเคชัน กู๊ด ดอกเตอร์ และแอปฯ MorDee (หมอดี) ในการให้บริการพบแพทย์ออนไลน์ แก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มอาการไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการ (กลุ่มสีเขียว) ที่กักตัวที่บ้าน ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา

สปสช. ย้ำผู้ป่วยโควิด รับบริการแบบพบแพทย์ออนไลน์ต้องไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง

ประกอบกับในช่วงนี้สังคมอาจจะมีความกังวลว่าจะมีการระบาดระลอกใหม่ แนวทางดังกล่าวจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการดูแลผู้ป่วย ช่วยสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าจะสามารถเข้าถึงการรักษาได้เป็นอย่างดี

 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า เพื่อให้การเข้ารับบริการเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว สปสช. ขอเน้นย้ำถึงขั้นตอนการเข้ารับบริการ โดยเบื้องต้น ผู้ที่สามารถรับบริการนี้ได้จะต้องเป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทองอายุ 15-60 ปี ที่อยู่ในพื้นที่ กทม. และจังหวัดปริมณฑลอีก 5 จังหวัด คือ นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 90 กิโลรัม หรือ BMI ไม่เกิน 30 ไม่เป็นคนพิการ ไม่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่มีโรคประจำตัว รวมถึงโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน แม้จะคุมอาการได้ก็ตาม รวมทั้งไม่ใช่กลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี, ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์ ไม่มีอาการของโรคโควิด-19 รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ และไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง เช่น ภาวะอ้วน

 

"เหตุผลที่เรากำหนดเกณฑ์ไว้แบบนี้เพราะหากอยู่นอกเหนือจากกลุ่มที่กล่าวข้างต้นไปแล้ว ถือว่ามีความเสี่ยง ดังนั้นจึงควรเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลซึ่งมีเครื่องมือ/อุปกรณ์ทางการแพทย์ครบครัน หรือหากจำเป็นก็จะได้แอดมิดนอนดูอาการในโรงพยาบาลได้เลย แต่หากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้นก็สามารถ การพบแพทย์ออนไลน์ก็เพียงพอที่จะให้การดูแลได้อย่างครอบคลุม อีกทั้งจะได้สงวนทรัพยากรในโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มอาการปานกลาง-รุนแรงอีกด้วย"ทพ.อรรถพร กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อผู้ใช้สิทธิบัตรทองรายใดที่ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด และไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงข้างต้น สามารถลงทะเบียนตามแบบฟอร์มลงทะเบียนโครงการ Self-Isolation สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านแอปฯ กู๊ด ดอกเตอร์ หรือ แอปฯ  MorDee (หมอดี) จากนั้นจะมีการตรวจสอบสิทธิบัตรทอง โดยเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปยังผู้ป่วยเพื่อยืนยันตัวตนเข้ารับบริการแล้วเข้าสู่ระบบพูดคุยกับแพทย์ผ่านระบบออนไลน์เพื่อประเมินอาการและจัดส่งยาตามความจำเป็นให้กับผู้ป่วย โดยบางรายอาจได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ที่ขึ้นอยู่กับอาการ

 

นอกจากนี้ หลังจากพบแพทย์ครบ 48 ชั่วโมงแล้ว เจ้าหน้าที่ติดต่อสอบถามอาการผู้ป่วยอีกครั้งและแนะนำให้ดูแลตัวเองให้ครบจำนวนวันตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เมื่อผู้ป่วยดีขึ้นแล้วก็จะออกจากระบบการดูแลได้ อย่างไรก็ตามหากในระหว่างนี้ผู้ป่วยมีอาการเพิ่มมากขึ้น ระบบจะส่งข้อมูลต่อให้กับ สปสช.เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป