สธ. รับมือผู้ป่วยโควิดพุ่ง นำ 2 แอปฯ ให้บริการพบหมอออนไลน์-ส่งยาถึงบ้านฟรี

16 ก.ค. 2565 | 11:36 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2565 | 18:46 น.
2.2 k

สาธารณสุขเตรียมแผนรองรับยอดผู้ติดเชื้อโควิดที่พุ่งสูงขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโอมิครอน BA.5 ล่าสุด เตรียมนำ 2 แอปพลิเคชัน Good Doctor Technology และ MorDee (หมอดี) ให้บริการพบหมอออนไลน์ขับเคลื่อนการรักษาสิทธิบัตรทอง พร้อมส่งยาให้ฟรีถึงบ้าน

16 ก.ค. นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โอมิครอน BA.5 ในขณะนี้ พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็น ผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเขียว คือ มีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ อุณหภูมิ 37.5 องศาขึ้นไป จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก และมีเสมหะ เป็นต้น

 

อาการเหล่านี้ทาง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกแนวทางปฏิบัติให้รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน โดยผู้ที่ตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด ให้ไปรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกที่หน่วยบริการตามสิทธิรักษาของตน รับยา แล้วกลับมากักตัวต่อที่บ้าน 7+3 วัน ส่วนกรณีกลุ่มเสี่ยง และกลุ่ม 608 การรักษาขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์

 

ในส่วนของ ผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิบัตรทอง (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ที่อยู่ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล 5 จังหวัด นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร นอกจากการรักษาตามแนวทางดังกล่าวแล้ว สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เพิ่มการให้บริการการรักษาด้วยระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) โดยเป็นความร่วมมือกับ 2 บริษัทผู้ให้บริการแอปพลิเคชันด้านสุขภาพดิจิทัล ได้แก่

  • แอปฯ “Good Doctor Technology”
  • แอปฯ “MorDee (หมอดี)”

เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 เฉพาะสิทธิบัตรทอง ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันเพียงอันใดอันหนึ่ง จะได้พบแพทย์ออนไลน์ ซึ่งจะทำการประเมินอาการ และจัดส่งยาถึงบ้านตามความจำเป็นโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย บางรายอาจได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการ

 

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso

 

นางสาวรัชดาเปิดเผยว่า “แม้โรคโควิด19 จะถูกปรับเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่การดูแลผู้ป่วยยังคงเป็นไปตามสิทธิการรักษาเหมือนเดิม และภายใต้สถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น รัฐบาลได้วางระบบการให้บริการสาธารณสุขเพื่อให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที ป้องกันอาการที่อาจรุนแรงขึ้น การเพิ่มระบบการให้บริการแพทย์ทางไกลนี้ เป็นอีกช่องทางที่มีประสิทธิภาพ ลดการแพร่ระบาดของโรค ทั้งยังเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลด้วย”