ยังพบการติดเชื้อ “โควิดระลอกเล็ก” ได้ สธ.สั่งเตรียมพร้อมรับมือ

05 ก.ค. 2565 | 13:38 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2565 | 20:44 น.

ปลัด สธ. ระบุ หลังพ้นการระบาดใหญ่ยังสามารถพบการติดเชื้อ "โควิด" เป็นระลอกเล็กๆ ได้ สั่งหน่วยงานสาธารณสุขเตรียมความพร้อมรองรับแล้ว ยังไม่จำเป็นต้องยกระดับการแจ้งเตือน

วันนี้ (5 กรกฎาคม 2565) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทย เข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจากนี้เราต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด (Living with COVID) เหมือนอย่างโรคอื่นๆ ซึ่งหมายความว่า ยังสามารถพบการติดเชื้อได้แต่ความรุนแรงของโรคลดลง การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะไม่มากเกินระบบสาธารณสุขที่มีจะรองรับได้

โดยจากการผ่อนคลายมาตรการ เปิดกิจการและกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงมีการเปิดประเทศ ทำให้มีผู้เดินทางเข้าประเทศมากขึ้น อาจพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ (Small Wave) ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่จะไม่ใช่การระบาดใหญ่ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีการเตรียมความพร้อมรองรับตามแนวทาง 3 พอ คือ หมอพอ เตียงพอ ยาและเวชภัณฑ์พอ

"ขณะนี้สถานการณ์เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ จึงมีการเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุขไว้รองรับ โดยกำชับและแจ้งไปยังหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ให้บุคลากรทางการแพทย์ระมัดระวังป้องกันตนเองในการให้บริการ เตรียมความพร้อมยา เวชภัณฑ์ สำรองเตียง ความพร้อมระบบส่งต่อ และเร่งเดินหน้าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนในการคงมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล จะช่วยลดการติดเชื้อและหยุดระลอกเล็กๆ เหล่านี้ลงได้" นพ.เกียรติภูมิกล่าว

 

ขณะนี้ยังคงแจ้งเตือนภัยโควิด 19 ในระดับ 2 ไม่จำเป็นต้องยกระดับการแจ้งเตือน โดยการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาด เน้นตามมาตรการ 2U ได้แก่ Universal Prevention คือ มาตรการป้องกันโรค ทั้งเว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก แม้จะมีการออกประกาศให้สวมหน้ากากโดยสมัครใจ แต่แนะนำให้ยังต้องสวมในกลุ่มผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กลุ่มที่เสี่ยงติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง

 

รวมถึงยังต้องสวมเมื่อไม่สามารถเว้นระยะห่างจากผู้อื่นได้ การเข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก การอยู่ในสถานที่เสี่ยงหรือสถานที่แออัด และ Universal Vaccination คือ มาตรการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ช่วยป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต ทำให้ลดการเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาล และระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้