ผงะ! วัคซีนโควิด "ไฟเซอร์" รุ่น 2 ใช้ไม่ได้ผลกับโอมิครอน BA.5

02 ก.ค. 2565 | 04:11 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2565 | 06:17 น.
18.6 k

ผงะ! วัคซีนโควิด "ไฟเซอร์" รุ่น 2 ใช้ไม่ได้ผลกับโอมิครอน BA.5 หลังพบสามารถหลบหนีภูมิคุ้มกันได้ทุกสูตร 3-4 เท่า

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์ และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว (Anan Jongkaewwattana)โดยมีข้อความระบุว่า 

 

หลังจาก Moderna (โมเดอร์นา) ออกผลของวัคซีนรุ่น 2 ออกมา ทางฝั่ง Pfizer ก็ออกผลตามออกมาเหมือนกัน 

 

โดยวัคซีนรุ่น 2 ของ Pfizer (ไฟเซอร์) มีอยู่ 2 รูปแบบที่ทำการทดสอบมาคือ เป็น mRNA ของ BA.1 อย่างเดียว (monovalent) 

 

และ mRNA ของ BA.1 ผสมกับ วัคซีนรูปแบบเดิม (bivalent) เหมือนกับของ Moderna 

 

โดยทีม Pfizer ได้ทำการทดสอบสูตรวัคซีนทั้งขนาด 30 ug และ 60 ug 

โดยใช้วัคซีนรุ่น 2 เป็นเข็มกระตุ้นที่ 4 ในอาสาสมัครอายุมากกว่า 55 ปี ที่ได้ Pfizer มาแล้ว 3 เข็ม โดยอาสาสมัครได้เข็มที่ 3 มาแล้วโดยเฉลี่ย 6.3 เดือน

 

ผลจากจำนวนอาสาสมัคร 320 คนต่อกลุ่ม พบว่า ถ้าดูภูมิต่อไวรัสโอมิครอน BA.1 กลุ่มที่ได้ภูมิสูงที่สุดคือ กลุ่มที่ได้ mRNA Omicron แบบเดี่ยวขนาด 60 ug  และ 30 ug ตามลำดับ 

 

ขณะที่กลุ่มที่ได้วัคซีนแบบผสม หรือ bivalent ได้ภูมิที่น้อยกว่า โดยเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเข็ม 4 เป็นวัคซีนแบบเดิมที่ 3.15 เท่า และ 2.23 เท่า 

 

สำหรับวัคซีน monovalent-Omicron และ 1.97 และ 1.56 เท่าสำหรับ bivalent-Omicron 

 

ซึ่งก็สอดคล้องกับค่าแอนติบอดีก่อนและหลังกระตุ้นที่ 1 เดือนของวัตซีนแต่ละชนิด

 

วัคซีนโควิด "ไฟเซอร์" รุ่น 2 ใช้ไม่ได้ผลกับโอมิครอน BA.5

 

ทาง Pfizer ยังได้ทำการทดสอบเพิ่มเติมกับไวรัส BA.4/ BA.5 เช่นเดียวกัน 

โดยผลการทดลองที่ได้เป็นไปตามคาดคือ BA.4/BA.5 หนีภูมิจากเข็มกระตุ้นวัคซีนรุ่น 2 ได้ทุกสูตรในระดับหนึ่ง ประมาณ 3-4 เท่า 

 

ถ้าใช้ไวรัสตัวจริงในการทดสอบจะพบว่า สูตรที่เป็น bivalent แบบผสม 1:1 จะมีภูมิต่อ BA.4/BA.5 สูงกว่า สูตรที่เป็น monovalent 

 

ซึ่งสอดคล้องกับผลจากการทดสอบโดยใช้ไวรัสตัวแทน (pseudotyped virus) ที่ทดสอบในหนูทดลอง

 

สรุปว่าวัคซีนสูตร 2 ของ Pfizer ถ้าจะใช้ให้ดูสถานการณ์การระบาดถ้า BA.4/BA.5 มาแรงคงต้องไปที่สูตรผสม bivalent 

 

แต่ถ้ามีไวรัสที่ใกล้เคียง BA.1 ออกมาอีกในอนาคต อาจพิจารณาใช้สูตรแบบ monovalent 

 

ซึ่งการ update วัคซีนคงยากที่จะได้ตรงกับสายพันธุ์ไวรัสแบบตรงเป๊ะๆ เพราะไวรัสไปไวกว่าหลายเท่าตัว