"หมอยง" ชี้โอมิครอน BA.5 จะเป็นสายพันธุ์หลัก ติดซ้ำได้ คล้ายไข้หวัดใหญ่

29 มิ.ย. 2565 | 08:17 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มิ.ย. 2565 | 15:17 น.
1.4 k

"หมอยง" ชี้โอมิครอน BA.5 จะเป็นสายพันธุ์หลัก ติดซ้ำได้ คล้ายไข้หวัดใหญ่ ระบุวัคซีนรุ่นต่อไปต้องเป็นการพัฒนาต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย โพสต์ข้อความว่า

 

โควิด-19  ลักษณะมีแนวโน้มจะคล้ายไข้หวัดใหญ่

 

ไข้หวัดใหญ่มีการระบาดทุกปี สายพันธุ์ก็เปลี่ยนไปทุกปี การฉีดวัคซีนก็ต้องเปลี่ยนตามสายพันธุ์ทุกปี ไข้หวัดใหญ่เป็นแล้วเป็นอีกได้ 

 

ไวรัส covid-19 มีแนวโน้มเปลี่ยนสายพันธุ์มาตลอดตั้งแต่สายพันธุ์เดิมอู่ฮั่น 

 

มีการเปลี่ยนสายพันธุ์ใหม่เข้ามาแทนที่ จากสายพันธุ์ G เป็นสายพันธุ์ Alpha (อัลฟ่า)  Delta (เดลตา) 

 

และมาถึง Omicron (โอมิครอน) จาก BA.1 แทนที่กันมาตลอด 

 

และขณะนี้ BA.5 กำลังจะเข้ามาแทนที่ในที่สุด โดยสายพันธุ์เดิมก็จะหายไป

 

Covid19 เป็นแล้วก็สามารถเป็นอีกได้ 

การเปลี่ยนแปลงหลบหลีกภูมิต้านทาน เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปทุกปี 

 

ทำให้วัคซีนต้องฉีดทุกปี ตามสายพันธุ์ที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง 
ขณะนี้ที่เราฉีดวัคซีนกันถึงแม้หลายครั้ง ก็ยังเป็นสายพันธุ์เดิม จึงไม่แปลกที่ฉีด  5 - 6 เข็มแล้วก็ยังเป็น

 

พฤติกรรมของ covid19 ก็ไม่แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ 

 

วัคซีนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตามสายพันธุ์ที่คาดว่าจะมีการระบาด

 

โอมิครอน BA.5 จะเป็นสายพันธุ์หลัก ติดซ้ำได้ คล้ายไข้หวัดใหญ่

 

การให้วัคซีนสายพันธุ์เดิม ประสิทธิภาพในการป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคก็จะน้อยลง 

 

ขณะที่เรามีภูมิต้านทานเป็นทุนเดิม การติดเชื้อถึงแม้จะต่างสายพันธุ์ ความรุนแรงของโรคก็ลดลงมาโดยตลอด

 

ในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนสายพันธุ์ใหม่มาใช้ในประเทศ ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากการได้รับวัคซีน ร่วมกับการติดเชื้อ 

โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน จะเป็นภูมิต้านทานแบบลูกผสม ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดซ้ำหรือลดความรุนแรงของโรคได้ดีกว่าการได้รับวัคซีนอย่างเดียว 

 

การติดเชื้อจึงเปรียบเสมือนการได้รับวัคซีนในธรรมชาติ 

 

แต่จุดอ่อนก็คือ ผู้ที่เปราะบางจะมีความรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้ 

 

ดังนั้น วัคซีนในรุ่นต่อไปจะต้องเป็นการพัฒนาวัคซีนต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ให้ทันเพื่อให้เกิดภูมิต้านทานแบบลูกผสม 

 

เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ที่มีความจำเป็นให้ในกลุ่มเสี่ยงทุกปีตามสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลง