วัคซีนโควิด โมเดอร์นาเวอร์ชั่น 2 กระตุ้นภูมิดีกว่าเวอร์ชั่น 1 เพิ่มขึ้น 59%

11 มิ.ย. 2565 | 04:11 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2565 | 06:12 น.
2.1 k

วัคซีนโควิด โมเดอร์นาเวอร์ชั่น 2 กระตุ้นภูมิดีกว่าเวอร์ชั่น 1 เพิ่มขึ้น 59% หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลใช้ชื่อเบื้องต้น mRNA-1273.214

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

วัคซีน Moderna เวอร์ชั่น 2 ชนิด 2 สายพันธุ์ กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าวัคซีนเวอร์ชั่น 1 ชนิด 1 สายพันธุ์ เพิ่มขึ้นอีก 59%

 

เนื่องจากวัคซีนป้องกันโควิดที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ เป็นวัคซีนที่พัฒนาขึ้นโดยใช้ไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมหรืออู่ฮั่นเป็นหลัก อาจเรียกว่าเป็นวัคซีนเวอร์ชั่นที่ 1 ก็ได้
ตลอดระยะสองปีที่ผ่านมา มีการวิจัยพัฒนาวัคซีนเวอร์ชั่นที่ 2 เพื่อให้สามารถรับมือกับไวรัสก่อโรคโควิดที่มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา

 

แต่ก็ยังไม่ได้นำมาใช้ เนื่องจากไวรัสสายพันธุ์ต่างๆนั้น มีการกลายพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว เช่น เบต้า แอลฟ่า และเดลตา เป็นต้น

 

สำหรับในปัจจุบัน ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้อยู่เป็นสายพันธุ์หลักมากว่า 6 เดือนแล้ว

 

จึงทำให้บริษัทวัคซีนต่างๆ มีโอกาสและมีเวลาที่จะพัฒนาวัคซีนเพื่อรับมือกับไวรัสโอมิครอนได้

ขณะนี้ทางบริษัท Moderna ได้ประกาศความสำเร็จเบื้องต้นว่า บริษัทได้พัฒนาวัคซีนเวอร์ชั่น 2 หรือวัคซีนที่เรียกว่า 2 สายพันธุ์  (Bivalent) คือพัฒนามาจากสายพันธุ์ดั้งเดิมบวกกับสายพันธุ์โอมิครอน ใช้ชื่อเบื้องต้นว่า mRNA-1273.214

 

และเมื่อได้ทำการทดลองในอาสาสมัครจำนวน 814 ราย ซึ่งทุกรายได้ฉีดวัคซีน Moderna มาแล้ว 3 เข็ม โดยเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่ 2 เป็นเวลา 8 เดือน

 

แบ่งเป็นกลุ่มที่หนึ่ง 377 ราย ฉีดกระตุ้นเข็มที่ 4 ด้วยวัคซีน Moderna เวอร์ชั่นเดิมหรือเวอร์ชั่น 1 ห่าง 4.5 เดือน ขนาด 50 ไมโครกรัม

 

วัคซีนโควิด โมเดอร์นาเวอร์ชั่น 2 กระตุ้นภูมิดีกว่าเวอร์ชั่น 1 เพิ่มขึ้น 59%

 

และกลุ่มที่สอง 437 ราย ฉีดด้วยวัคซีนเวอร์ชั่นที่ 2 หรือวัคซีน 2 สายพันธุ์ ขนาด 50 ไมโครกรัม พบว่า

 

หนึ่งเดือนถัดมา เมื่อเจาะเลือดดูระดับภูมิคุ้มกัน (NAb) พบระดับภูมิคุ้มกันของการฉีดวัคซีน 2 สายพันธุ์ ขึ้นสูงกว่าวัคซีน 1 สายพันธุ์ 59%

 

แม้จะถือว่าเป็นข่าวดี แต่ก็ยังมีข้อจำกัดดังนี้

 

  • การศึกษานี้ เป็นการศึกษาดูระดับภูมิคุ้มกัน ยังไม่ใช่การศึกษาดูประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อเหมือนกับของวัคซีนเวอร์ชั่น 1 ซึ่งต้องใช้เวลาและกลุ่มตัวอย่างที่มากพอสมควร

 

  • ในสหรัฐอเมริกาขณะนี้ ได้มีโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ 4,5 (BA.4 BA.5) เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ตอนนี้ประมาณ 13% แล้ว อีกไม่นานคาดว่าจะแซงโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ 2 (BA.2) ได้ด้วย

ในขณะที่วัคซีนที่ผลิตใหม่ครั้งนี้ (ชนิด 2 สายพันธุ์) ยังไม่ได้รวมไวรัสโอมิครอน สายพันธุ์ย่อยที่ 4,5

 

จึงทำให้จะต้องติดตามข้อมูลของวัคซีนเวอร์ชั่นใหม่หรือ 2 สายพันธุ์ ซึ่งกำลังจะยื่นเอกสารขออนุมัติกับทางอย.สหรัฐ(USFDA) และคณะกรรมการที่ปรึกษาของ USFDA กำลังจะประชุมในวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ว่า วัคซีนที่ควรจะฉีดในปลายปีนี้ ควรจะมีการป้องกันสายพันธุ์ใดได้บ้าง

 

ส่วนความเห็นแย้งเกี่ยวกับเรื่องความจำเป็นที่การศึกษา จะต้องมีกลุ่มตัวอย่างในมนุษย์มากกว่านี้สำหรับการอนุมัติวัคซีนใหม่นั้น

 

ก็มีความเห็นต่างมาจากอีกกลุ่มหนึ่งที่บอกว่า วัคซีนประจำปีของไข้หวัดใหญ่ซึ่งเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทุกปี ก็ไม่ได้มีการทดลองในมนุษย์เป็นจำนวนมากและนานพอ

 

ซึ่งก็มีความเห็นแย้งต่อความเห็นนี้อีกทีว่า เพราะวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนเก่า

ซึ่งได้ทำการศึกษาทดลองมานานนับ 10 ปี จึงมีความปลอดภัยสูง สามารถปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ได้เลย

 

ส่วนวัคซีนโควิดยังเป็นวัคซีนที่มีการวิจัยพัฒนามาเพียงสองปี และส่วนใหญ่เป็นการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน (EUA)

 

ก็คงต้องติดตามการวิจัยพัฒนาของวัคซีนเวอร์ชั่นที่ 2 ว่าจะสามารถรับมือกับไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ดีมากน้อยเพียงใด และถ้ามีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์ไปอีก ที่ไม่ใช่โอมิครอน เราจะพัฒนาวัคซีนต่อไปกันอย่างไร