"หมอยง" ชี้แนวทางปฏิบัติตัวเมื่อโควิดเป็นโรคประจำถิ่น มีอะไรบ้าง อ่านเลย

10 มิ.ย. 2565 | 13:41 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2565 | 20:42 น.
1.4 k

"หมอยง" ชี้แนวทางปฏิบัติตัวเมื่อโควิดเป็นโรคประจำถิ่น มีอะไรบ้าง อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ ระบุชีวิตต้องอยู่กับโควิดตลอดไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย โพสต์ข้อความว่า

 

โควิด-19 เมื่อเข้าสู่โรคประจำถิ่น หรือตามฤดูกาล

 

จำนวนผู้ป่วยขณะนี้ตามตัวเลขที่เราทราบ จะเป็นผู้ที่ได้รับการตรวจ RT PCR ที่จำนวนการตรวจน้อยลงอย่างมาก 

 

ขณะเดียวกันตัวเลขผู้ป่วยที่ไม่ได้ลงทะเบียน จะมีอีกจำนวนมาก น่าจะเป็น 10 เท่า 

 

และส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง จึงสามารถรักษาตัวเองที่บ้านได้ 

 

รวมทั้ง มีการติดเชื้อแบบไม่มีอาการอีกจำนวนหนึ่ง

 

ประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน มีภูมิต้านทานจากวัคซีน และจำนวนหนึ่งมีการติดเชื้อ การติดเชื้อจะสร้างภูมิต้านทานได้ดี 
 

และผู้ที่ได้รับวัคซีน ร่วมกับการติดเชื้อ จะมีภูมิต้านทานแบบลูกผสม สามารถลดความรุนแรงได้เป็นอย่างดี 

 

ในเด็กอายุ 5 ขวบ ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน เราตรวจเลือด (ในกรุงเทพฯ) พบว่ามีการติดเชื้อไปแล้วร่วม 20%  ในจำนวนนี้มีการติดเชื้อแบบมีอาการประมาณครึ่งเดียว

 

แสดงให้เห็นว่าขณะนี้ประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานที่เกิดจาก วัคซีน และการติดเชื้อ ที่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้เป็นอย่างมาก 

 

อัตราการป่วยตาย ในปัจจุบัน เราไม่มีตัวเลขที่แท้จริง แต่จากการประเมินน่าจะอยู่ที่ 0.1% หรือหนึ่งในพัน

 

"หมอยง" ชี้แนวทางปฏิบัติตัวเมื่อโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น

 

และผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว และไม่ได้รับวัคซีนครบ  3 เข็ม 

 

ชีวิตต้องอยู่กับโควิดตลอดไป การกักตัวในผู้ป่วย ก็จะใช้เวลาสั้นลง เป็น 7 วัน และดูแลป้องกันไม่ให้ติดคนอื่นด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมืออีกอย่างน้อย 3 วัน อย่างเคร่งครัด

 

ทั้งนี้  เพราะว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เคยได้รับวัคซีนมาแล้ว มีภูมิต้านทานบางส่วน และเมื่อติดเชื้อการกำจัดเชื้อ ให้หายไป เร็วกว่าคนที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน 
 

เด็กนักเรียน ในสิงคโปร์ ปีที่ผ่านมา 2564 เปิดเรียนตามปกติ ใครป่วย ให้หยุดเรียน 7 วันและถ้าไม่มีอาการแล้วให้กลับมาเรียนได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องตรวจ ATK ด้วย เพราะเขาให้ความสำคัญกับการเรียนมาก

 

เมื่อเทียบกับความรุนแรงของโรคในเด็กแล้ว น้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก  เด็กสร้างภูมิต้านทานได้ดี และมีความรุนแรงน้อย 

 

ยกเว้นเด็กเล็กที่ต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งขณะนี้ก็ไม่มีวัคซีน และก็ยังไม่ได้ไปโรงเรียน 
ถ้าเปรียบเทียบกับไข้หวัดใหญ่ เราก็ใช้วิธีการให้หยุดเรียน จนกว่าไม่มี ไข้ และอาการที่ชัดเจนอย่างน้อย 2 วัน ก็สามารถไปโรงเรียนได้ ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ว่าต้องหยุดถึง 10 วัน 

 

แนวโน้มในอนาคต เราจะต้องให้ความสำคัญของการศึกษา การหยุดเรียนของนักเรียน หรือการปิดโรงเรียน ควรจะต้องสั้นลง 

 

ถ้าเด็กส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากวัคซีน หรือเคยติดเชื้อ เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เด็กเล็กที่ไปโรงเรียน ติดเชื้อ RSV เราก็ไม่ได้มีการกำหนดว่าต้องหยุด 10 วัน เช่นเดียวกันไข้หวัดใหญ่ก็เหมือนกัน 

 

การติดเชื้อในเด็กนักเรียน ที่ได้รับวัคซีนมาครบแล้ว ควรจะหยุดเรียนอยู่บ้านเรียนออนไลน์  7 วัน ก็น่าจะเพียงพอ โดยเฉพาะในเด็กที่มีอาการน้อย หรืออาการหายแล้ว