กฎหมาย "PDPA" ข้อมูลส่วนบุคคล ฟังชัดๆ ถ่ายรูปไม่ผิด

09 มิ.ย. 2565 | 18:00 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2565 | 16:16 น.
19.2 k

กฎหมาย "PDPA" คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เริ่มบังคับใช้ตั้งเเต่ต้นเดือนมิถุนายน หลายคนยังสงสัย โดยเฉพาะ การถ่ายรูป กล้องวงจรปิด โพสต์ภาพลงโซเชียล อาชีพสื่อมวลชนจะต้องปฎิบัติอย่างไร เเละสิทธิ์ที่พึงมีของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

หลายคนยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ กฎหมาย PDPA กรณีการถ่ายภาพติดบุคคลที่ 3 ว่าอาจผิดกฎหมายฉบับนี้หรือไม่

กฎหมาย PDPA คืออะไร

ล่าสุด “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศุภวัชร์ มาลานนท์” ที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ระบุว่า กรณีการถ่ายรูป ถ่ายคลิปโดยติดบุคคลอื่นโดยผู้ถ่ายรูป ถ่ายคลิปไม่เจตนา และการกระทำดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย สามารถทำได้

หากเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ส่วนการโพสต์ในโซเชียลมีเดียสามารถทำได้ หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ใช้แสวงหากำไรทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

สำหรับการติดกล้องวงจรปิด ภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากเป็นการป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัย

 

“ถ่ายภาพได้ไหม ไม่ได้หารายได้ประกอบธุรกิจกับงานเหล่านั้น ต้องเบลอไหม ก็เเล้วเเต่ อยากทำก็ไม่ผิด ตาม PDPA กฎหมายไม่ได้มายุ่งกับชีวิตส่วนตัว ทั้งถ่ายวิดีโอ ถ่ายรูป กล้องวงจรปิด”

 

ส่วนคำถามที่ว่า อาชีพสื่อมวลชน หากบันทึกภาพติดผู้อื่น การนำไปใช้ได้จะต้องทำอย่างไร ผ.ศ.ศุภวัฒน์ ระบุว่า หากเป็นไปตามประโยชน์สาธารณะ จะไม่เข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์ของPDPA หรือกรณีประชาชนที่ถ่ายรูป หรือถ่ายวิดีโอผู้อื่น นำไปลงโซเชียล หากนำใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนบุคคล ไม่ใช่เพื่อการค้า ก็สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายเช่นกัน

 

“กฎหมายยกเว้นให้กิจการสื่อมวลชน PDPA ความสำคัญกฎหมายต้องการให้สื่อทำหน้าที่ต่อไปได้ ไม่ต้องขอความยินยอม ตราบเท่าที่ไม่ผิดจริยธรรมเเห่งวิชาชีพ ถ้าอยู่บนประโยชน์สาธารณะ โดยหลักการนักข่าวของบริษัทต่างๆ หรือองค์กรสื่อ ทำข่าวได้เหมือนเดิม ส่วนองค์กรก็ยังมีหน้าที่ในการจัดการข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐาน ถ้าองค์กรไม่ได้ทำเเต่ธุรกิจสื่อ ทำเรื่องอื่นด้วย เช่น มีการสมัครสมาชิก ก็มีหน้าที่ต้องทำตามกฎหมาย”

 

 

PDPA คืออะไร

  • พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีขึ้นเพื่อให้ภาคเอกชนและภาครัฐ (บุคคล/นิติบุคคล) ที่เก็บรวมรวม ใช้ หรือเปิดเผย ข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลโดยจัดให้มีมาตรการปกป้องข้อมูลของผู้อื่นจากการถูกละเมิดสิทธิส่วนตัว มีความเป็นธรรมเเละโปร่งใสต่อเจ้าของข้อมูล
  • ต้องมีฐานการประมวลผลอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด การขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ก่อนการเก็บ รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลเป็นเพียงหนึ่งในเจ็ดฐานการประมวลผล
  • เป็นกฎหมายแรกของไทยที่ให้ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเป็นระบบเเละสอดคล้องกับเเนวทางสากลโดยให้มีหน่วยงานของรัฐที่มีความเป็นอิสระทำหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย
  • มีผลบังคับใช้ผูกพันระหว่างผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูล กับผู้เอาไปใช้ ทั้งภาครัฐ เอกชน หน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไร คนธรรมดา และนิติบุคคล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
  •  เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิต่างๆ หลายประการใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด 

 

สิทธิพึงมีของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

  • สิทธิในการถอนความยินยอม ในกรณีที่ได้ให้ความยินยอมไว้
  • สิทธิได้รับการแจ้งให้ทราบรายละเอียด
  • สิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคล
  • สิทธิขอให้โอนข้อมูลส่วนบุคคล
  • สิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
  • สิทธิขอให้ลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้
  • สิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล
  • สิทธิขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล

สิทธิของเจ้าของข้อมูล